Sunday, March 12, 2006

คาวบอยคนนั้นไม่ได้ตกม้าตาย


เลิกแอบเสียที/วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์
vitadam2002@yahoo.com
11-12 มีนาคม 2006

แจ็ค : ให้ตายเถอะ ฉันไม่เข้าใจเลย เกิดอะไรขึ้นกับออสการ์?
เอนนิส : ...
แจ็ค : คนดูเรื่องของเราแทบทั้งโลก เราชนะรางวัลมาแล้วแทบทุกที่
เอนนิส : …
แจ็ค : นายพูดอะไรบ้างสิ
เอนนิส : …

คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกไม่ต่างจากแจ็ค ตกใจ-ผิดหวัง-เสียใจ-โกรธเป็นฟืนเป็นไฟทันทีที่รู้ว่า Brokeback Mountain ชวดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ไปอย่างไม่คาดฝัน

แต่หลายคนก็อาจจะเหมือนเอนนิสที่คงตกใจอยู่ กลัว และไม่รู้จะพูดอะไรดี (แต่ในหนัง เอนนิส ถึงไม่ได้ตกใจ ก็ไม่ค่อยพูดอะไรอยู่ดี)

จากวันจันทร์ที่ 6 มี.ค. จวบจนวันนี้ คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะคงมองหาคำตอบที่แท้จริงและขณะเดียวกัน ก็พยายามทำใจให้ได้ กับเหตุการณ์ผิดหวังครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น คราวนี้แหละที่เอนนิสพูดถูกเป็นครั้งแรก “If you can’t fix it you’ve got to stand it.”

จริงๆ แล้ว เวทีออสการ์ก็เป็นเวทีประกวดอย่างหนึ่งเพื่อการค้าและความบันเทิง ไม่เห็นต้องไปใส่ใจอะไรมากมาย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง มันเป็นตัววัดกระแสสังคมในแต่ละยุคว่า มันหมุน เราหมุน หรือเราหมุนๆ แล้วเวียนหัวไปเอง เพราะมันย่ำอยู่กับที่?

อย่างไรก็ตาม ก็ช่วยไม่ได้นะครับ หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังคง “เซ็ง” ไม่หายกับความปราชัยของ Brokeback Mountain แบบมีเงื่อนงำบนเวทีแห่งนี้ คงต้องปล่อยให้ตัวเองรู้สึก “เซ็ง” ไปอีกสักพัก

เหมือนจู่ๆ โดนแฟนบอกเลิกแบบไม่ยอมอธิบาย ยังไงยังงั้น?

ผมยังไม่มีโอกาสดู Crash เลยล่ะครับ คงเป็นเพราะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเกย์ เลยไม่ได้แจ้นไปดู ผมเลยจะกล่าวหาว่า Crash ด้อยกว่า BB Mountain ก็ไม่ได้

แต่ก็มีบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องเกย์ทั้งหลาย บางท่านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ บางท่านไม่ได้รับรู้ที่มาที่ไป แต่ก็สามารถให้สัมภาษณ์ได้ราวมีตาทิพย์

และเมื่อเร็วๆ นี้เอง ก็มีผู้เขียน “จากโลกใบเก่า” ในหน้าบันเทิงท่านหนึ่งที่ไปดูเรื่องมิวนิกเพียงเรื่องเดียว แต่กลับเขียนวิจารณ์หนังเรื่องอื่นๆ ในเวทีประกวดได้ ก็ถือว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของท่านก็ได้ แต่น่าเสียดายที่ตัวท่านเองก็ยังไม่เคยไปดู ยังไม่เคยค้นหา หรือพยายามเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้ตัวเอง

โดยเฉพาะกับหนังเรื่อง Brokeback Mountain ท่านเขียนประณามหนังเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และใช้พื้นฐานอคติทางเพศล้วนๆ มานำเสนอชนิดที่เรียกว่า สับเละ ผมคิดว่า คนอ่านก็มองเห็นและรับรู้ความอยุติธรรมและความคับแคบทางความคิดของท่านในบทความชิ้นนั้น

จริงๆ แล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ อีกหลายคนหรอกที่บอกว่า ฉันไม่ไปดู Brokeback Mountain เพราะมีผู้ชายจูบกัน เอากันด้วย

ความจริงแล้ว ที่เขาไม่ไปดูกันเพราะกลัวต่างหาก กลัวที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติตัวเองเสียที

และกลัวที่จะไปค้นพบความจริงที่ว่า สิ่งที่เคยรู้ เคยเข้าใจ เคยเชื่อ (หรือถูกบอกให้เชื่อ) และเคยยึดมั่นมาตลอดนั้น เป็นเรื่อง “ผิดพลาดและเรื่องหลอกลวง” ทั้งเพ เขารับความจริงไม่ได้ว่า ความรักในเพศเดียวกันมีอยู่จริงและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีมนุษย์

ในวิถีออสการ์ เมื่อเปรียบ Brokeback Mountain กับ Crash แล้วด้วยการเอารางวัลจากสถาบันต่างๆ มาเป็นเกณฑ์ และวัดน้ำหนักกระแสความสนใจและความชื่นชม หนังทุนสร้างต่ำแต่มีนักแสดงเก่งๆ เพียบเรื่อง Crash ก็เป็นม้านอกสายตาอย่างชัดเจนไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องสงสัยจริงๆ

แต่เผอิญ ม้านอกสายตาตัวนี้ ไม่ได้อัปลักษณ์แต่อย่างใด

Crash ว่าด้วยปัญหาเหยียดสีผิวเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคมโดยเฉพาะในสังคมอเมริกัน เนื้อเรื่องเกิดขึ้นที่แอลเอ สถานที่จัดออสการ์นั่นแหละ แล้วจะบอกว่า ไม่มีส่วนสร้างอิทธิพลต่อกรรมการ ก็พูดได้ไม่เต็มปาก

พอจับขึ้นเวทีประกวดแล้ว ก็เลยมีน้ำมีนวลพอจะสูสีกับนางงามเต็งจ๋า “Love Strawberry” ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้อย่าง Brokeback Mountain กรรมการเลยมีตัวเลือกที่ไม่เลวร้าย และผลก็ปรากฏว่า ทั่นกรรมการส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้นโยบาย “ปลอดภัยไว้ก่อน” โดยให้อังลี ได้เป็นผู้กำกับยอดเยี่ยมไป แต่หนังที่เขากำกับไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลนี่ เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้วด้วย ไม่น่าเกลียดหรอก

นโยบายปลอดภัยไว้ก่อนผนวกกับการยึดมั่นแนวทางความเท่าเทียมกันอย่างแปลกประหลาดบนเวทีปีนี้ ทำให้รางวัลที่แจกมีการแบ่งสันปันส่วนพอๆ กันได้อย่างน่าทึ่งโดยเรื่องหลักๆ ที่เข้าประกวด ต่างก็รับไปเรื่องละ 3 รางวัล

เมื่อพูดถึงเรื่องสีผิว และการเหยียดผิว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่สังคมอเมริกันมาตลอด และหากมองแบบแฟร์ แล้ว เรื่องเกย์และรักเพศเดียวกันก็เป็นเรื่องอยู่คู่กับสังคมอเมริกันตลอดไม่แพ้กันนั่นแหละ

เพียงแต่ว่า คุณครับ สีผิวน่ะ มองเห็นกันได้ เหมือนสิ่งที่จับต้องได้ เขาปกปิดไม่ได้ จึงจัดการได้ง่ายเพราะมองเห็นด้วยตาเปล่า ก็เข้าใจ แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกย์ คนเราส่วนใหญ่มองไม่เห็นเกย์หรอก เลยเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้เพราะเรานิยมแอบกันส่วนใหญ่ ใครอยากรู้จักเรื่องเกย์ ต้องใช้ความพยายาม

และในอีกมุมลึกๆ ของจิตใจ คนเรามักรับไม่ได้ที่เห็นคนเพศเดียวกันรักกัน มีความสุขกัน ไม่ได้มองโลกแง่ร้ายนะพูดจริง

ผมคิดว่า เบื้องลึกแห่งจิตใจแล้ว พวกเขากลัวที่บอกว่า ฉันชอบหนังเรื่องนี้ เพราะส่วนหนึ่งมันจะแปลว่า ฉันสนับสนุนคนให้เป็นเกย์ มันกลายเป็นการเมืองเรื่องเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ที่ติดตามข่าวคราวเรื่องออสการ์มาตลอดต่างทราบดีว่า กระแสวงในที่ต่อต้าน Brokeback Mountain นั้นมีอยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าผลจะออกมาเป็นยังไง

เมื่อผลออกมาอย่างนี้ เลยอดไม่ได้ที่จะฟันธงว่า เขาเลือก Crash มาบดขยี้ Brokeback Mountain ซะ เพราะยอมไม่ได้ที่จะให้ออสการ์จารึกว่า ปี 2006 หนังเกี่ยวกับเกย์ มีตัวละครหลักเป็นเกย์ และมีหนังที่พูดถึงความรักของคนเพศเดียวกันขึ้นแท่นเป็นผู้ชนะ

แต่เดี๋ยวก่อน บางคนอาจเถียงว่า ลึกๆ แล้ว คณะกรรมการและผู้โหวตรางวัลออสการ์ไม่ได้เหยียดและกีดกันเกย์อย่างที่คิด พวกเขาไม่ได้แสร้งทำตัวเป็นกลางด้วยการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมกันทางสีผิวหรอกน่า ก็ Philip Seymour Hoffman ซึ่งเล่นบทนักเขียนเกย์ที่ไม่ได้ปิดบังความเป็นเกย์ของตัวสิ ก็ได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม

แต่เดี๋ยวก่อน เรื่อง Capote (ได้รีบแจ้นไปดูแล้ว) ไม่ได้จับประเด็นเรื่องเกย์และแสดงความรักของชายกับชายอย่างโจ่งแจ้งดังเช่น Brokeback Mountain ที่อาจทำให้ขัดตาและเคืองอารมณ์ผู้ชม

คุณ Philip แสดงเป็นนักเขียนชี่อดัง ทรูแมน คาโปที ที่ต้องการเขียนหนังสือเกี่ยวกับฆาตกรสังหารหมู่ครอบครัวหนึ่ง แต่เกิดความผูกพันกับฆาตกร และขณะเดียวกัน เขาต้องต่อสู้กับความต้องการส่วนตัวที่จะเขียนหนังสือให้จบ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับ “ประเด็นต่างๆ ในชีวิตเกย์” และความรักของเกย์เลยแม้แต่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่อดเสียดายไม่ได้บนเวทีนี้ คุณ Felicity Huffman จาก TransAmerica ไม่ได้รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม กลับตกเป็นของคุณ Reese Winterspoon จาก Walk The Line สองเรื่องนี้ผมมีโอกาสได้ไปดู เลยเปรียบเทียบกันได้ ผมยังคิดอยู่ดีว่า คุณ Felicity ก็เหมาะสมไม่น้อยกับบทบาทที่ยากเช่นนั้นที่จะได้รางวัลนี้

ความพ่ายแพ้ของ Brokeback Mountain บนเวทีออสการ์ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ด้อยความหมายเชิงสังคม และเชิงอารมณ์ลง

สำหรับผมแล้ว ผมอยากจะบอกว่า ผมพอใจแล้วที่มีหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นและได้ช่วยคนทั่วไป ไม่ใช่สิ ทั่วโลกต่างหาก มีคนสนใจเรื่องเกย์ ถามไถ่กันมากขึ้น พ่อแม่และลูกมีเรื่องได้คุยกัน มีโอกาสเปิดอกกันได้มากขึ้น

เพราะหนังเรื่องนี้ ได้สร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับเราหลายคนที่ยังหลบซ่อนอยู่ จะได้ก้าวออกไป และหวังว่า คงจะกล้าหาญอย่างที่ผู้จัด ผู้สร้าง ผู้กำกับ และนักแสดงได้แสดงให้ตลอดว่า เป็นเกย์เป็นเรื่องธรรมดาที่เราไม่ต้องกลัวที่จะพูดถึง หรือกลัวหากคุณก็เป็นอีกคนหนึ่ง

ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ที่จะมีหนังเกี่ยวกับเกย์ที่ไปไกลได้ขนาดเรื่องนี้ แต่โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป

บอกต่อกันไป รีบไปดู Transamerica นะครับ เดี๋ยวจะออกจากโรงแล้ว และไปชมฝีมือการแสดงของคุณ Phillip จาก “Capote” เข้าวันที่ 16 มี.ค. นี้ ที่ House Rama แห่งเดียว คำเตือนผู้ไปชม Capote ควรนอนหลับพักผ่อนมาอย่างดี เพราะหนังจะดำเนินไปช้าๆ ต้องละเลียดรายละเอียดและเก็บความรู้สึก ไม่มีป้อนคนดู

-end-

All rights served.

6 comments:

Anonymous said...

โอ้โห วิเคราะห์ได้ละเอียดยิบเลยนะครับ
ขอปรบมือให้เลย

คนที่ไม่ได้เป็นเกย์เค้าก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับเรื่องนี้หรอกครับ
ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้อยากรับรู้อะไรเท่าไหร่

ก็หวังว่าคนพวกนี้จะมีลูกหลาน ญาติพี่น้องเป็นเกย์เป็นเลสเบียน
หรือไม่ก็ได้เกิดค้นพบตัวเองขึ้นมา
จะได้ลองมองโลกจากอีกมุมหนึ่งดูบ้าง(หวังว่านะ)

โหดไปมั้ยเนี่ยเรา

Anonymous said...

วันที่ทราบผลออสการ์ ผมคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน (ซึ่งรับทราบสถานภาพของผมทุกประการ) ว่า งานนี้ ต้องขอเจอกับกรรมการตัดสินกันตัวตัวซะแล้ว

เพื่อนอีกคน ให้ข้อมูลว่า ท้ายที่สุดแล้วรางวัลออสการ์เป็นรางวัลที่ต้องระวัง impact ทางสังคมด้วย หรืออีกนัยคือ เจ้าหล่อนเตือนผมว่า ถ้าให้รางวัล bbm แล้ว จะเป็นการสื่อสารบ้างอย่างอย่างโจ่งแจ้งหรือเปล่า

ข้อโต้แย้งของผมคือ เมื่อ 1-2 ปีก่อน ออสการ์โกยรางวัลให้นักแสดงผิวดำเป็นชุด (ปีที่ Danzel Washington และ Halle Barry ได้รางวัลคู่กันนั่นแหละครับ)และปีนั้น ก็เป็นที่ทราบว่า รางวัลออกจะเป็นการเมืองหน่อยๆ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น สำหรับเรื่องรักต้องห้าม (ซึ่งเราเคยเห็นเป็นสิบรอบ ทั้งรักต่างเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือแม้แต่ต่างวงศ์ตระกูล อย่าง Romeo and Juliet ก็มีมาแล้ว)ที่บังเอิญเกิดระหว่างคนเพศเดียวกันอย่างที่เห็นหนา มันจะไปหนักหนาอะไรเสียจะยอมให้รางวัลไม่ได้กันเชียวหรือ

ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เพียงแค่รู้สึกเซ็งกับผลรางวัลเท่านั้นเอง

Anonymous said...

ผมเข้าใจว่าอาการ "เซ็ง" หลังรู้ผลประกาศว่าเป็นยังไง

วันที่ประกาศผลออสการ์ ผมกำลังทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทันใด พี่ที่ทำงานด้วยกันมันตะโกนข้ามโต๊ะมาเลยว่า Crash ได้ รางวัล The Best Picture (ว่ะ)

ผมว่าหูผมฝาดหรือป่าว อาจจะเป็นรางวัลอื่น

ผมเลยถามว่ารู้ผลจากไหน พี่มันบอกว่า ทางเว็ป

ใจมันลุ้นเลย พออ่านถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เฮ้ยยยยยยยยยย!!!!!!!

BM ไม่ได้ยังไง(วะ)เนี่ย หัวมันคิดไปเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะผมอ่านคำวิจารณ์เกี่ยวกับรางวัลที่จะได้ก็น่าลุ้นเกือบ 100% มีเพียงผู้วิจารณ์บางคนบอกว่าปีนี้ BM อาจจะตกม้าตาย เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก

เพราะรางวัลออสการ์ เปิดประเด็นต่างๆเกี่ยวกับสังคมไปเกือบจะหมดแล้ว ไม่ว่าเป็นเรื่อง การเหยียดผิว ชาตินิยม ความรักหว่างชนชั้น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ฯ เหลือประเด็นเดียวที่ออสการ์ยังไม่เคยเปิดให้คือ พื้นที่ของคนรักเพศเดียวกัน ถ้าไม่นับเรื่องฟิลาเดเฟีย(ซึ่งไม่น่าจะนับว่าเป็นเรื่องของเกย์ เพราะไม่ได้นำเสนอชีวิตอะไรเลยเกี่ยวกับเกย์)

บอกได้คำเดียวว่างานนี้ "เซ็ง" ครับ

Vitaya S. said...

ขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นด้วยการโหวตให้กับเวบนี้ เขาถามความเห็นเรื่องออสการ์ที่ผ่านมา

http://www.nbc4.tv/surveypopup/news/7730096/detail.html?p=news

BB? Vote

Anonymous said...

นักวิจารณ์สับกรรมการออสก้าส์แหลกเลยค่ะ ที่ไม่ได้ bbm ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เราไม่เคยดูทั้ง 2 เรื่อง เลยวิเคราะห์วิจารณ์ไม่ได้ แต่โดยส่วนตัว เชียร์ bbm มากกว่า เราเคยได้ยินมาว่ากรรมการที่โหวตส่วนใหญ่อยูใน LA และเรื่องCrash ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใน LA เช่นกัน กรรมการเลยเทใจโหวตให้เรื่อง Crash มากกว่า

Anonymous said...

เราไม่ได้เปนเกย์หรือเลสเบียนหรอก (และคิดว่าคนที่ไม่มีอคติกับเกย์และเลสเบียน หรือ ใจไม่ได้แคบน่าจะคิดเหมือนเรา)

เราลุ้นเรื่องนี้มากจริงๆ นะ อยากให้ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากๆ คือ มันเปนหนังที่ดูแล้ว แบบ สุดยอดอ่ะ ไม่น่าเชื่อว่าจะสุดยอดขนาดนี้ แล้วมันพลาดได้ไง

ตอนนั้นนั่งลุ้นอยู่ที่บ้านเซ็งตั้งแต่เจคไม่ได้แระ พออั้งลี่ได้แบบดีใจมาก ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต้องได้ชัวร์ พออีกเรื่องได้เราโมโหมากเลยอ่ะ กรรมการแ-ง อยากต่อยมันจริงๆ หนังเกย์ดีๆแบบนี้ใช่ว่าจะมีบ่อยๆ เฮ้อ

แต่ก็นะ อย่าไปเครียดกับเรื่องนี้มากเลย