Sunday, June 04, 2006

The Producers : กิ๊บเก๋-กิ๊บเกย์บนแผ่นฟิล์ม

เลิกแอบเสียที / วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์ vitadam2002@yahoo.com

3-4 June 2006

หนังเพิ่งจบไป เพื่อนของผมคนหนึ่งที่นั่งอยู่ห่างออกไปเดินขึ้นมาแซว “แหม... หัวเราะซะดังลั่นโรงเชียว”

จริงเหรอ?!?!? รู้สึกหน้าตัวเองร้อนๆ ขึ้นมา

แต่เพื่อนผมอีกสามคนที่นั่งอยู่ด้วยกันก็หัวเราะดังนี่นา หรือเสียงหัวเราะของผมเว่อร์เกิน? พอเพื่อนมาทักเข้า ผมเลยนึกถึงตอนคนเราอยู่ในโรงหนังแล้วเผลอหลุดเสียงออกไปในจังหวะที่โฆษณาหูแตกดันเงียบลงกะทันหัน สงสัยความรู้สึกจะคล้ายๆ กัน

คุณผู้อ่านครับ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องให้เมล บรูคส์ (Mel Brooks) ผู้สร้าง The Producers รับไปคนเดียวเต็มๆ

เขาคือเจ้าแห่งเสียงฮาตัวจริงและนั่งอยู่แถวหน้าในวงการบันเทิงอเมริกัน มุขตลกเสียดสีของเขาไม่ได้ทำให้คุณหัวเราะเพราะท่าทางบ๊องๆ ของตัวละคร หรือหัวเราะเพราะเห็นคนตีหัวกันไปมาแล้วแลบลิ้นปลิ้นตาทะลึ่งใส่ แต่เป็นเพราะคำพูดที่แฝงไว้ด้วยความหลักแหลม บางประโยคบางตอนก็ล้อเลียนเสี้ยวส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ เสียดสีทั้งวรรณกรรมหนักๆ ปรัชญาแรงๆ และบันเทิงตลาดๆ ได้อย่างน่าหยิก

แล้วในที่สุด House RCA ก็นำหนังเรื่องนี้มาฉาย เข้าโรงแล้วเมื่อวันที่ 1 ที่นี่ที่เดียว

The Producers (2005) เป็นหนังเพลงที่สร้างมาจากละครเพลงบนเวที ซึ่งละครเพลงบนเวทีก็สร้างมาจากหนังชื่อเดียวกันอีกทีที่สร้างชื่อเสียงให้คุณเมลมาก่อนเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ทั้งหนังทั้งละครกวาดรางวัลไปเพียบเป็นประวัติการณ์

หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับเกย์ แต่มีตัวละครเป็นเกย์เยอะจนตาลาย ทั้ง “เกย์จ๋า แต๊บหลุด ตุ๊ดแตก ตลกโปกฮา บ้าหรู และก้ามปู” ฯลฯ อ้อ...รวมไปถึงตัวละครฮิตเลอร์ในเรื่องด้วย เป็นเกย์เดินตูดบิด

พอดูจบ ผมก็อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมนะ ทั้งๆ ที่หลายฉากหลายตอนของหนังเรื่องนี้เอาความเป็นเกย์ ท่าทาง และ “ลักษณะเกย์” อย่างที่ว่าข้างต้นที่คนชอบมองกันมาเสียดสีล้อเลียน แต่ดูแล้วขำสะใจ ไม่รู้สึกเหมือนถูกเหยียบย่ำเหมือนดูหนังดูละครหรือดูโฆษณาบางชิ้น?

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ดูเรื่องนี้แล้วก็ตลกดี ขำๆ ไม่ค่อยได้อะไร แต่ผมว่า น่าจะมี “อะไร” อยู่บ้าง

ฉากหนึ่งในเรื่อง (ขออภัยถ้าเผยมากไปนะครับ แต่ยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ)

โปรดิวเซอร์สองคน แสดงโดยคุณเนธัน เลน (Nathan Lane) กับคุณแมทธิว บร็อดเดอริค (Matthew Broderick) ต้องการผู้กำกับละครเวทีสักคนเพื่อมาช่วยทำให้ผลงานเรื่องใหม่ของเขา “Springtime For Hitler” ต้องเจ๊งตั้งแต่รอบแรกเพื่อจะได้หอบเงินลงทุนจากบรรดาแม่ยกทั้งหลายไปแบ่งกันใช้ได้เร็วๆ

เขาทั้งสองไปพบกับผู้กำกับที่ได้ยินมาว่าห่วยที่สุด พอไปถึงก็เจอผู้ช่วยเป็นเกย์สาวแต๋วแตกบวก
ติงต๊อง พอผู้กำกับโผล่ออกมาเท่านั้นแหละ ผู้ช่วยหน้าแหลมก็ดูธรรมดาขึ้นมาทันที เพราะท่านผู้กำกับใหญ่ปรากฏกายในชุดคุณนายในวัยทอง แต่ลวดลายพลิ้วสุดๆ และต๊องกว่าผู้ช่วยเยอะ

ส่วนบรรดาลูกทีมของผู้กำกับก็ใช่ย่อย ทั้งคนออกแบบเสื้อผ้า คนออกแบบท่าเต้น คนออกแบบแสง ตัวละครแต่ละคนโผล่ออกมาแนะนำตัวเองให้ผู้ชมรู้จักในรูปแบบหลากหลายพร้อมล้อเลียนเรื่องเกย์ๆ ไปด้วย

หมัดเด็ดฉากนี้ของคุณเมลต้องยกให้ลูกทีมคนหนึ่งของผู้กำกับที่แต่งตัวล้อวงดนตรีเกย์คลุมเครืออย่าง Village People ที่สมาชิกทั้งวงยืนยันว่า ฉันเปล่าเกย์ แต่ทั้งเนื้อหาเพลง ทั้งการแต่งตัวและท่าเต้นค้านกันอยู่พิกล (วงนี้มีเพลงฮิตที่ชาวสีรุ้งรุ่นเก๋าโปรดปรานอย่าง Y.M.C.A.)

ทั้งผู้กำกับและทีมงานโปรดักชั่นสุดสาวของเขาร่วมร้องเพลง “Keep It Gay” ด้วยกัน

คุณจิรนันท์ พิตรปรีชาบรรเลงบทบรรยายไทยได้โดนสุดๆ เลยครับ เธอเล่นคำว่า “เกย์” กับ “ก๋”สลับไปสลับมา-จนต้องหัวเราะลั่นโรงไง ท่อนหนึ่งผู้กำกับวัยทองร้องว่า :

“No matter what you do on the stage. Keep it light. Keep it bright. Keep it GAY…” แปลรวมๆ ก็คือ ไม่ว่าคุณจะทำแสดงอะไรบนเวที ต้องทำให้สดใสร่าเริงมีชีวิตชีวาเข้าไว้ หรือจะหมายความว่าทำอะไรให้เกย์ๆ ไว้แหละดีซึ่งก็แล้วคนฟังจะคิดตาม

การนำเสนอเรื่องเกย์ กะเทย ทอม ดี้ หรือผู้มีความหลากหลายทั้งหลายในสื่อนั้นทำได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีใครห้ามหรือหวง แต่ส่วนใหญ่มักทำได้ “แค่มิติเดียว” และมักมาในแบบ “ไม่สร้างสรรค์” คือ ไม่พ้นเป็นตลกปัญญานิ่ม ก็เป็นตัวประหลาด ดูแล้วน่าชิงชัง

ขออนุญาตย้อนไปพูดถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่เคยเขียนถึงนะครับ

คำถามตรงนี้ก็คือ ทำไมโฆษณาของห้างแว่นท็อปเจริญถึงไม่เป็นที่พอใจของเกย์หลายคน รวมทั้งพ่อแม่และเพื่อนๆ ของ? มีหลายๆ คนที่ดูแล้วต้องส่ายหัว อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโกรธๆ ขณะที่ยังมีเกย์ กะเทยคนอื่นๆ และแน่นอนทีมงานจากบริษัทโฆษณากลับรู้สึก “insensitive” โดยคิดว่า เป็นเรื่องขำๆ ?

ในมุมมองของผม โฆษณาชิ้นนี้จัดเข้าประเภทเทสต์ห่วย ที่ห่วยก็เพราะผู้สร้างสรรค์หยิบเอา “negative stereotypes” หรือชุดความเชื่อที่เป็นด้านลบมานำเสนอเพื่อเรียกความหฤหรรษ์โดยไม่มีแง่มุมอื่นใดที่สำคัญ อาจเป็นเพราะความเคยชินที่ไม่เคยใส่กับความเปราะบางในประเด็นนี้

ลองวาดภาพดู : กะเทยหน้าเหียก หนวดเฟิ้ม มีกล้าม กำลังแกว่งนาฬิกาข้อมือเพื่อล่อผู้ชายที่กำลังยืนฉี่อยู่ในห้องน้ำ แล้วก็โดนชกหน้าหงาย จนวิกหลุดกระเจิง ดูแล้วรู้สึกยังไง?

ภาพลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมใช้กดทับกะเทยอยู่แล้ว แล้วคนทำโฆษณาก็หยิบมาตอกย้ำทำเล่นเป็นเรื่องตลกๆ เพราะรู้ว่าขายได้ ไม่เพียงย้ำอคติว่า กะเทยชอบล่อลวง บ้าผู้ชายแล้วยังบอกให้คนดูเห็นคล้อยตามด้วยว่า ก็สมควรได้รับการลงโทษแล้วล่ะด้วยการตะบันหน้ามันซะ

การหากินกับภาพลบของคนอื่นจึงเป็นเรื่องยาก ทำออกมาไม่ถึงเลยเป็นเรื่องน่าชัง นอกจากนำเสนอความรุนแรงแล้ว โฆษณาชิ้นนี้คือ ตลกเป็นพิษ

คุณอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วทำไมทีเกย์หรือกะเทยบางคนชอบเอาความเป็นเกย์ กะเทยของตัวเองมาล้อเล่น ล้อเลียน หรือมาทำมาหากินเรียกเสียงหัวเราะได้ล่ะ? ต่างกันตรงไหน?

ผมไม่แน่ใจว่า ผมมีคำตอบที่ชัดเจนตรงนี้ แต่ผมคิดว่า

คงเป็นเพราะพวกเราล้อเลียนตัวเองมั้ง เลยไม่ “เป็นพิษ” เท่ากับคนอื่นเอามาล้อ คนล้อผลิตสิ่งที่ล้อมาจากความพึงพอใจของตัวเองที่ไร้อคติ ไม่ใช่ตั้งใจหากินจากภาพลบบนอคติในสมองของคนอื่น
เมล บรูคส์ก็ล้อเลียนตัวเองซึ่งเป็นยิวเหมือนกันใน The Producers และในฉากหนึ่งเมียเขาก็โดนด้วย แต่คุณดูแล้วจะอมยิ้ม ขออนุญาตเผยอีกนิดหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพครับ ในฉากนี้ คุณเนธัน ต้องเดินทางไปขอเงินจากบรรดาแม่ยกรุ่นคุณยายทั้งหลายที่เขาเคยมีอะไรด้วย คนดูที่รู้จักคุณเนธันจะดูแล้วขำ เพราะเขาเป็นนักแสดงเกย์ที่ไม่ได้ปิดบังตัวเอง แต่เรื่องนี้ เล่นเป็นคาสซาโนว่า

บนลิฟต์ เขากดปุ่มต่างๆ ที่มีชื่อคนดังหลายคนติดอยู่ ถ้าคุณไปดูหนังเรื่องนี้จะเห็นชื่อ A. Bancroft! บังเอิญผมเป็นแฟนหนังเรื่องหนึ่งของเธอ คุณแอน แบนคร็อฟก็คือ ภรรยาผู้ล่วงลับของคุณเมล เธอดังจากเรื่อง The Graduate โดยเล่นเป็นคุณแม่สอนรักให้หนุ่มรุ่นลูก (แสดงโดยดัสติน ฮอฟแมนในวัยเอาะ) เธอจึงกลายแม่ยกอีกคนจากหนัง อีกเรื่องไปโดยปริยาย

คุณเมลยังซ่อนเรื่องกัดๆ แบบนี้ไว้ตรงนั้นตรงนี้อีกหลายแห่ง เรียกได้ว่า ไปดูหนเดียวอาจจะยังเก็บไม่หมด ทั้งในบทสนทนา และในองค์ประกอบของฉาก แม้แต่ชื่อของตัวละคร “Max Bialystock” ที่คุณเนธันเล่น และชื่อ Leo Bloom ที่คุณแมทธิวแสดงก็มีความหมายเฉพาะเช่นกัน ส่วนตัวละครที่คุณอูม่า เธอร์แมนรับบทชื่อ นางสาว “Ulla Inga Hansen Bensen Yansen Tallen Hallen Svadon Swanson” สงสัยจะเป็นชื่อกิ๊กสาวขายาวชาวสวีเดนของคุณเมลละมั้ง?

พอดูหนังจบ และรายชื่อนักแสดงและทีมงานกำลังไหลขึ้นหน้าจอ ลองนั่งอยู่รอจนสุดจริงๆ นะครับ อาจจะมีเซอร์ไพรซ์จากนายเมล และคุณอาจจะได้หัวเราะดังๆ ปิดท้ายอีกครั้ง (www.theproducersmovie.com)

บอกต่อกันไป : ร่วมทำบุญครั้งใหญ่ กุศลแรง โครงการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับกลุ่มชายรักชาย “The Bangkok MSM Cohort Study” ยังต้องการอาสาสมัครเพื่อตรวจสุขภาพอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากจะมีคนติดตามสุขภาพให้แล้ว ยังได้พบเพื่อนใหม่ๆ มีค่าชดเชยสละเวลาเมื่อมาตามนัด โทรฟรี 1800-686-868 หรือ www.silomclinic.in.th

-end-

All rights reserved.

4 comments:

Anonymous said...

Sawasdee P'Vit and Hi others,
1.ผู้สร้างสรรค์หยิบเอา “negative stereotypes”
2.ทำไมทีเกย์หรือกะเทยบางคนชอบเอาความเป็นเกย์ กะเทยของตัวเองมาล้อเล่น ล้อเลียน หรือมาทำมาหากินเรียกเสียงหัวเราะได้ล่ะ? ต่างกันตรงไหน?

ผมคิดว่า'''คงเป็นเพราะพวกเราล้อเลียนตัวเองมั้ง เลยไม่ “เป็นพิษ” เท่ากับคนอื่นเอามาล้อ ..ไม่ใช่ตั้งใจหากินจากภาพลบบนอคติในสมองของคนอื่น

My personal idea:
1.ดูที่เจตนาเป็นหลัก
2.ความสร้างสรรค์ของสิ่งที่นำเสนอ
3.ผลกระทบที่อาจเกิดภายหลัง

การตัดสินความเป็นคนโดยภาพรวม(negative stereotypes) ไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ดีงามต่อตนเองและผู้อื่น เรียกได้ว่า ''ไม่ก่อให้เกิดมงคลกับชีวิต''
ความคิดเห็นส่วนตัว : คงได้แค่เฉยๆ เพราะไม่มีอำนาจใดไปห้ามปรามคนอื่น ได้แต่หวังว่าสักวันคนเหล่านั้นจะรู้สึกได้ด้วยตนเองถึงความเหมาะสมในการนำเสนอสื่อ ต่อสาธารณะ คงได้แค่หวังและคิดในทางสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ....

Anonymous said...

สวัสดีค่ะทุกคน อยากดูเรื่องนี้จังเลย ติดตรงเข้าที่เฮ้าส์โรงเดียวนี่แหละ คนต่างจังหวัดเสียเปรียบเรื่องการดูหนังค่ะ หนังดีๆไม่ค่อยได้ดูกับเค้านักหรอก

Anonymous said...

จะแวะไปดูนะครับ พี่ไม่บอกก่อน ไม่งั้นวันศุกร์ที่แล้ว ผมจะแจ้นไปดูก่อนเลย จะได้มาคุยได้ว่าดูแล้ว 55+

ผมอยากมองจากอีกมุมหนึ่งนะครับ(จากที่อ่านบทความของพี่) ผมว่าแม้หนังจะเล่นเกี่ยวกับอคติและมายาคติที่ดูน่าๆรัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ล้อเลียนเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมและกำลังถูกถ่ายทอดซําอย่างไม่รู้ตัว???

แม้ว่าหนังจะมีวัฒนธรรมแบบตะวันตกรวมถึงการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันออก แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันเลยคือมายาคติที่เกี่ยวกับเกย์ ผมว่าเป็นสิ่งที่น่าคิดนะครับทำไมมายาคติเหล่านี้ถึงเหมือนหรือใกล้เคียงกัน และผมคิดว่าเกย์ในทุกมุมโลกคงรู้สึกไม่ต่างกัน (ปริมาณความรู้สึกคงมากน้อยแตกต่างกัน) แต่โดยเนื้อหาของมายาคติผิดๆเกี่ยวกับเกย์คงไม่แตกต่างกัน ผมคิดว่านะครับ

ไม่รู้มีใครเคยศึกษาเกี่ยวกับมายาคติเกี่ยวกับในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกหรือเปล่านะพี่ ผมว่าน่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบดูนะ ว่ามั้ยครับ?

หรือคิดเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ไว้ต่อโทและเอกของผมซะเลย 55+

Anonymous said...

หวัดดี it เดี๋ยวนี้หายหน้าไปไหน