Sunday, April 01, 2007

I Am...What I Am

(youtube ถูกกระทรวง ICT บล็อค ดูตัวอย่างโฆษณาได้ที่เว็บ www.ktc.co.th)

เลิกแอบเสียที 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2007 วิทยา แสงอรุณ vitadam2002@yahoo.com

หญิงสาวผมยาวดำขลับยื่นมือออกไป ลูบไล้ใบหน้าหนุ่มหล่อคมเข้มที่นั่งอยู่ตรงข้ามอย่างเบาๆ สายตาแห่งแรงปรารถนาสะกดไปที่เขา แต่…เพียงเพื่อจะพบว่า ดวงตาของชายหนุ่มกำลังมองเลยผ่านข้ามไหล่หล่อนไป แล้วไปหยุดอยู่ที่ชายหนุ่มอีกคนที่นั่งอยู่ไม่ห่างนัก

แวบแรกที่ผมเห็นโฆษณาทีวีชิ้นนี้ ก็คิดถึงเรื่อง “แก๊งชะนีกะอีแอบ” ทันที แต่จริงๆ แล้วหนุ่มคนนั้นในโฆษณาไม่ได้แอบเลยสักนิด เขาจับจ้องไปที่หนุ่มอีกคนอย่างไม่้รู้สึกเกรงอกเกรงใจคนสวยที่อยู่ตรงหน้า เขาไม่มีอาการทุกข์ร้อน และดูเหมือนเขาจะไม่ไยดีใดๆ กับอาการขุ่นๆ ที่หล่อนแสดงออกมาหลังจากรู้ว่า เขากำลังมองใครอยู่

จากจุดนั้น โฆษณาเผยให้รู้ต่อมาว่า นี่เป็นผลงานชิ้นใหม่ของบัตรเครดิต KTC

เคทีซีเคยสร้างความฮือฮากับการออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตเก๋ๆ อย่างบัตรขนาดมินิที่นางแบบสาวใช้ปกปิดยอดปทุมถันของเธอ เรียกว่าเป็นโฆษณาโดนใจคนเมือง แต่ไม่โดนใจคนที่คอยกำหนดคุณค่าแห่งความเหมาะสมในสังคม โฆษณาชิ้นนั้นทำให้เคทีซีผ่านร้อนผ่านหนาวกับกระแสแรงๆ ของสื่อมวลชนมาแล้ว แต่คราวนี้สิครับ น่าสนใจ และท้าทายมากกว่านัก

บัตรใหม่นี้มีชื่่อว่า “I AM” ภาพบนบัตรเป็นรูปผู้ชายติดปีก (รูปปั้นเดวิด) ที่สร้างความฉงน ปนไม่เื่ชื่อสายตาในหมู่ผู้ชมบางกลุ่ม อย่างเช่นเพื่อนรุ่นน้องของผมคนนี้

“พี่ๆ….” เขาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “…เห็นโฆษณาบัตรเครดิตอันใหม่ของเคทีซีหรือยัง…ตกลง นี่มันบัตรสำหรับ PLU หรือเปล่าเนี่ย (People Like Us หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ชาวเรา)?”

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของบัตรเคทีซีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังฉบับหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เป็นบัตรสำหรับลูกค้าผู้ชายกลุ่ม “Metrosexual” หรือผู้ชายเจ้าสำอาง

ในความหมายของท่าน ก็คือ คนที่ชอบดูแล ใส่ใจกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่งตัวเป็น มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภท เสื้อผ้า และคอสเมติคส์ เพื่อให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ ท่านบอกตัวเลขเงินทองของผู้ชายกลุ่มนี้ที่ใช้ไปเพื่อการนี้ คร่าวๆ ก็เป็นหลักแสนต่อปี

ที่สำคัญ กลุ่มชายรักชายก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มเมโทรเซ็กช่วลนี้เหมือนกัน ท่านผู้นั้นให้สัมภาษณ์ไว้

ผมคิดว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ชาญฉลาดและแยบยลไม่น้อยเลยล่ะครับ

รุ่นน้องผมถามต่ออีกว่า “แต่ที่เห็นเนื้่อหาโฆษณา และชื่อบัตรว่า I AM เนี่ย ตกลงมันกลุ่มเมโทรเซ็กช่วล หรือม้ันกลุ่มเกย์เมโทรเซ็กช่วลกันแน่ ผมว่า น่าจะหมายถึงพวกเราทั้งหมดนะครับ ไม่น่าจะหมายถึงผู้ชายทั่วๆ ไป”

คำตอบทั้งหมดนี้ มีอยู่ในเว็บไซต์ของเคทีซีแล้ว คุณจะเห็นรายการชื่อสินค้าคอสเมติคส์ เสื่อผ้าเแบรนด์ไทยและเทศ สถานบริการ สถานประกอบการต่างๆ ที่ชาวสีรุ้งนิยม ถ้าเป็นผู้ชายทั่วไป เปิดเข้าไปดู คงงงๆ

ผมคิดว่า ผลงานโฆษณาและผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตชนิดใหม่นี้ แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นในตลาดนี้ ภาพที่นำเสนอในเนื้องานโฆษณา ถือว่า ก้าวล้ำไปข้างหน้าเกินกว่าจะเป็นเพียงแ่ค่แหย่ๆ เพื่อชิมลาง เพราะตัวเนื้อหาโฆษณานั้นไปไกลเกินเส้นแบ่งเขตที่เรียกว่า “gay vague” หรือการนำเสนอภาพความคลุมเครือของตัวตนคนเป็นเกย์ผ่านสื่อโฆษณาเพื่อจะ “สื่อสารทางอ้อม” กับลูกค้ากลุ่มนี้

ผมเดาว่า เคทีซีคงคิดไว้แล้วหลายตลบแล้วน่ะครับ เพราะโฆษณาชิ้นนี้ปรากฎอยู่ในสื่อกระแสหลัก ซึ่งมีผู้ชมปะปนอยู่หลากหลายเพศ อายุ การศึกษา และทัีศนคติ หากเคทีซีพูดอะไรตรงไปตรงมา แล้วใครๆ พากันพูดต่อว่า เคทีซีออกบัตรเครดิต “เกย์” ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถสร้างความฮือฮาให้ไม่น้อย สื่อมวลชนคงนำมาตั้งคำถามอย่างสนุกสนาน ตกเป็นข่าวได้ ในอีกมุมหนึ่ง ความชัดเจนจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วลูกค้าเป้าหมายหลักจะกล้าถือบัตรนี้ไหม?

เคทีซีมีทางเลือกก็คือ ไม่นำเสนอตรงๆ ก็ได้ แต่การไม่นำเสนอตรงๆ เลยซะทีเดียวก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และอาจจะสร้างความสับสนในหมู่ลูกค้าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นเกย์ ซึ่งกลุ่มนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ลูกค้า “ในใจ” ของเคทีซีที่ตั้งเป้าไว้ โจทย์ก็คือว่า สื่อสารได้แค่ไหนจึงลงตัว

ตรงนี้เอง ผมคิดว่า องค์ประกอบต่างๆ ภาพของชายหนุ่มอีกคนในผลงานโฆษณา ความตั้งใจจ้องมองของชายหนุ่มไปยังหนุ่มอีกคน ภาพไลฟ์สไตล์ของคนเมืองอื่นๆ ที่ปูมาตั้งแต่ต้น ผนวกกับภาพสัญลักษณ์กามเทพหนุ่มติดปีกที่เด่นอยู่บนหน้าบัตร และชื่อบัตรว่า “I AM” น่าจะทำหน้าที่ของมันได้ผล

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่เกย์ คำว่า “I AM” สำหรับเกย์นั้น มีความหมายว่า “ฉันเป็นฉัน ฉันเป็น (เกย์)” คนที่จะพูดอย่างนี้อย่างเต็มปากได้ ต้องผ่านสมรภูมิทุกข์ใจกว่าจะยอมรับตัวเองได้ อีกมุมหนึ่ง สำหรับคำๆ นี้ เกย์คนหนึ่ง-เช่นผม ก็จะนึกถึงคำว่า I AM WHAT I AM ซึ่งเป็นเพลงดังเพลงหนึ่ง ไม่ทราบว่า ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างเดียวกันหรือเปล่า

เพลงๆ นี้ สำหรับเกย์อายุยี่สิบเศษ อาจจะยังไม่เคยรับรู้ถึงพลังของเนื้อหาเพลงม หรือแม้แต่ชื่อเพลงนี้ก็อาจจะไม่เคยได้ิิยิน คำ ๆ นี้จึงไม่สื่อกับเกย์กลุ่มยี่สิบเศษซึ่งเพิ่งจะเรียนจบ อีกอย่างเกย์ในวัยนี้คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของบัตร เนื่องจากผู้ถือบัตรต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่น้อย

ที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ก็คงจะมีบางคนที่ยังจะบอกว่า ฉันไม่กล้าใช้หรอก เพราะชาวบ้านก็รู้สิว่า เป็นเกย์ ผมคิดว่า คนที่ยังกลัวคนอื่นจะรู้ความจริงของต้วเองอยู่ ก็ไม่น่าจะใช่ลูกค้าของบัตรนี้

ลูกค้าของบัตรก็คือ ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่ประกาศอยู่ในรายการอยู่แล้ว และเป็นผู้บริโภคที่พูดคำว่า I AM ได้โดยไม่ต้องแคร์สายตาชาวบ้าน หรือกังวลใจ (หรือคิดไปเอง) ว่าจะมีใครมาดูแคลน พวกเขาคือผู้บริโภคไม่มีความกลัวมาเป็นนายอีกแล้ว พวกเขาคือ ผู้บริโภคที่เข้าใจคำว่า I AM WHAT I AM อย่างลึกซึ้ง ยืดอก ยอมรับความจริงของตัวเอง รักมัน และถ้าจะ Empower หรือมาช่วยเติมพลังให้กันและกันมากขึ้นไปอีกนิด มีอีกบัตรหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะตั้งชื่อว่า

So what? …เป็นเกย์ แล้วไง?

-end-
All rights reserved.

10 comments:

Anonymous said...

That's it..!

เคยอ่านในกระทู้จากบอร์ดมาบ้างเกี่ยวกับบัตร แต่ไม่เคยเห็นโฆษณาเพราะอยู่ในป่า ก้อเพิ่งได้ดูโฆษณาที่เอามาให้ดูเนี่ยแหละ
ก้อชัดเจนนะคับ ว่า KTC ต้องการสื่อถึงลูกค้ากลุ่มเป้ากลุ่มไหน หรือลูกค้าแบบไหนที่สนใจจะใช้บัตรใบนี้ ชัดเจน ชัดเจน...

Who care if you will use it..!! You are the only one who are responsible for your own fate. You are what you are.

ภาพในโฆษณาก้อสวยดีคับ..

Anonymous said...

พี่วิทย์เขียนถึงโฆษณาชิ้นนี้ด้วย ตอนเห็นครั้งแรก งงๆ ดูไปดูมา วายนี่หว่า แต่เราชอบนะคะ ภาพสวยมากๆเลย พี่วิทยื เราขอลาบล้อคเดือนนึงนะคะ สอบปลายเดือนนี้แล้ว ยังไม่อ่านหนังสือซักตัวเลย

Anonymous said...

ยกมือ ขอเป็นผู้ถือบัตรด้วยคนคับ จะสมัครด่วนเลย เก๋กู๊ด!!!!

ได้ฟังรายการวิทยุแล้ว แต่เป็นversionขาดๆหายๆเพราะยังไม่เปิดบริการhi-speed internet รับรองว่าอาทิตย์หน้ามีผมนั่งฟังด้วยอีกคนแน่ๆ

Anonymous said...

โฆษณา ชัดเจนดีครับ มีความกล้า แต่ผมติดที่ภาพลักษณ์ของแบงค์มากกว่า มันยังไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย น่าจะscb

สุดสัปดาห์มีโอกาสได้อ่านหนังสือ มีคำถามว่า รู้ว่าผิดแล้วทำ กับไม่รู้ว่าผิดแล้วทำ อะไรไม่ดีกว่ากัน......
ผมคิดว่าอันแรกครับ แต่คำตอบอธิบายได้แยบคายมากครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าเหล็กร้อนเราจะจับ สัมผัสอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าไม่รู้ว่ามันร้อนเราจะจับอย่างสุดแรง บาดแผลก็คือผลของกรรมจากการกระทำ ผมเข้าใจในทันที จากหนังสือดูจิตหนึ่งพรรษา อยากแนะนำให้อ่านครับผม

พยายามฟังรายการวิทยุของพี่ แต่สงสัยnetที่บ้านไม่ดีคลิกเข้าเวปแล้วหลุดตลอด เสาร์ที่จะถึงจะลองใหม่ครับ

Enjoyกับการทำงานนะครับทุกคน :)

Anonymous said...

"เดวิด ก็ไม่มีหัวใจ"
"เดวิด ก็เป็นตัวของเดวิดเอง คือเป็น เทพบุตรรูปปั้น" จะแต่งตัวให้สวยแค่ไหน ปีกสยายแค่ไหนก็เป็นเพียงรูปปั้นจากหินอ่อน

ได้ดูผลงานชิ้นนี้แล้ว ทำให้คิดว่า เดวิดยืนเป็นรูปปั้นนานๆ ให้คนชื่นชน ใครเลยจะรู้ว่า กลางคืนเดวิดก็มีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง

หนังสั้นเรื่องนี้ สาวอิสานฯ คิดว่ามันแรงมากๆ ค่ะ ถ้าไม่ใช่ "คนในวงการ" ก็คงดูไม่รู้เรื่อง แต่กลุ่มเป้าหมายจะดูรู้ทันที หากเข้าไปดูรายการส่งเสริมการขายก็จะยิ่งกระจ่าง

บางคนชอบโฆษณาชิ้นนี้ บางคนไม่ชอบโฆษณาชิ้นนี้ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป งั้นสาวอิสานรอรักขอแสดงความคิดเห็นในแง่มุมของสาวอิสานรอรักนะคะ มันไม่เกี่ยวกับว่า เป็นเกย์ เป็นแอบ หรือเป็นสว่างอะไรหรอกค่ะ

บัตรนี้ ออกมาเพื่อตอบสนอง เทวดา และนางฟ้า จริงๆ เพราะ กรุงเทพก็แปลว่า เมืองของทวยเทพ จะเดินจะเหิรเหาะไปทางไหนๆ ก็มีแต่ธุรกิจแลเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยด้วย "เงิน" เพื่อ "ซื้อ" วัตถุมาปรนเปรอบำรุงบำเรอตัวเราเอง

ชีวิตในโฆษณานี่เห็น มันก็คือความจริงที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เข้าใจว่า คนเขียนสคริปต์คงไม่ได้แต่งขึ้นมาใหม่ แต่มันเป็นสิงที่เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นกันอยู่ หากท่านมีเงิน มีหน้าที่การเงิน มีรายได้สูง สักหน่อย ท่านก็คงคุ้นชินกับภาพที่เขานำเสนอเหล่านี้ (ชาวนา บ้านป่าอย่างสาวอิสานรอรัก ก็คงมองเห็นว่าเป็นของแปลก)

ในกลางดึกของชีวิตคนเมือง
ชายและหญิงมาเจอกันง่ายตามคลับ ผับ บาร์ พูดคุยถูกคอ แล้วก็ไปจบลงที่เตียง คนแบบ เมโทรเซ็กช่วลมีเซ็กส์กันง่าย เพียงเพราะฉันถูกใจเธอ

ประเด็นที่อยากเน้นคือ เดวิดในรูปนั้น หล่อก็จริง แต่คงไม่มีหัวใจ เพราะชีวิตคนเมืองกรุงก็คงเป็นแบบนี้

สตรีนางนั้นเอง ก็คงไม่ทราบว่า เดวิดเป็น มนุษย์พันธุ์พิเศษ (มันเป็นความผิดของเธอไหม ที่ไม่เจนจัดในเรื่องการมองมนุษย์ พันธ์พิเศษ)
โดยส่วนตัว แอบโมโห เดวิด นิดหน่อย แต่ทำไงได้คะ เพราะว่าเดวิดเป็นเทพบุตรหุ่นปั้นนี้นา ก็เลยไม่มีหัวใจ

เดวิดก็เหลือเกินลงทุกรู (เดวิดเป็นตัวแทนของ ทวยเทพในดินแดนของการค้าเสรีFTA)

ใครกันคะ ที่ทำให้บ้านเมืองมันเป็นแบบนี้ ?
ไม่โทษใครค่ะ โลกก็ต้องหมุนไปแบบนี้ บัตรนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้ชีวิตเท่านั้นเอง สาวอิสานคงไม่ได้มีโอกาสได้ใช้บัตรนี้ค่ะ เพราะสาวอิสานเป็นมนุษย์เงินสด กินข้าวแกงข้างทาง ยื่นบัตรเครดิตให้ แม่ค้า...
แม่ค้าคงทุ่มด้วยครกส้มตำค่ะ

แต่...
คิดไปคิดมา เป็นเดวิดก็ดีนะคะ ไม่มีหัวใจ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ไม่อนาทรร้อนใจ ลงได้ทุกรู...นี่ก็เป็นชีวิตอีกด้านหนึ่งของเพื่อนๆ ของสาวอิสานรอรักค่ะ มีหลายคนที่เลิกถามหาความรักและมีพึงพอใจชีวิตแบบเดวิด
แต่...
ชีวิตที่เลิกถามหาความจริงใจจากใครสักคน คุณคิดว่ามันเป็นชีวิตที่ถูกสาปหรือเปล่าคะ?

สำหรับสาวอิสานรอรัก คิดว่า เดวิด คือ ชีวิตที่ถูกสาปสรร "ว่าเธอจงไร้หัวใจ และเธอจงได้เจอแต่คนไร้หัวใจเช่นเธอ"


บุญรักษาค่ะ
สาวอิสานรอรัก

Anonymous said...

ผมก็ยังมองเห็นความฟุ้งเฟ้อในตัวบัตรครับ
หรือผมแก่แล้วครับพี่

Anonymous said...

ขอร่วมส่งเสริมแนวคิด แรง ๆ กล้า ๆ ด้วยคนคับ ^_^ ที่จริงผมไม่ใช้บัตรเครดิต แต่ก็ชื่นชมความกล้าของCreative คับ คงจะคิดกันอยู่นาน เพื่อให้บัตรมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน และเจาะกลุ่มเป้าหมายได้แบบทะลุทลวง (ถึงกลางใจ)ผมว่าเจ้าของ concept นี้น่าจะได้ "คุณ" มากกว่า "โทษ" อย่างน้อยก้อได้ซื้อใจ PLU กลุ่มใหญ่ในเมืองหลวงและเบิกทางให้กับสินค้าตัวอื่น อีกมากมายที่จะตบเท้าเข้ามาเป็น Simbol ใหม่ ๆ ให้กับชาวเรา ก็อะไรมันจะบ่งบอกความเป็น "ตัวเรา" ให้คนอื่นได้รับรู้ได้ง่ายไปกว่าข้าวของเหล่านี้ จริงมั้ยคับ


พักนี้หายหน้าไปจากคอลัมน์นี้บ่อย ๆ ...
เพราะไม่ค่อยจะมีเวลามาเยี่ยม
คิดถึงทุกคนคับ ...
You Do Take Care

Anonymous said...

เป็นโฆษณาที่เบาหวิวมากครับ
ไม่ชอบเลย ดูเว่อร์ๆ fake ไม่จริงใจ
และถึงแม้จะดูรู้ว่าเป็นสินค้าเกย์ชัวร์
แต่ในแง่ Image ผมว่าสอบไม่ผ่านนะ

ทัศนคติต่อผู้หญิงในโฆษณานี้ไม่ค่อยดีเลยครับ
ผมมาคิดๆดูนะ ถ้าตัดซีนที่เป็นคุณผู้หญิงอออกไปนี่ โฆษณาชิ้นนี้จะดูดีกว่านี้มาก

ในแง่มาร์เก็ตติ้ง
จึงไม่เข้าใจว่าจะจับตลาดเกย์ หรือ Bisexual กันแน่ ? เพราะถ้า KTC กะว่าจะจับ target ที่ exclusive เช่นนี้ งานโฆษณาที่ออกมาควรจะกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อ หรือไม่ก็ เปลี่ยน brand ได้แทบจะในทันที
ซึ่งผมมองว่า โฆษณาชิ้นนี้ไปไม่ถึงจุดนั้นนะ

เท่าที่ดูแนวการโฆษณาของ KTC เขาจะเน้นให้เป็น talk of the town
ถ้าพิจารณาในปะระเด็นนี้
หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้"แรง" หรือมีอะไรเด่นพอจะเป็น talk of the town ได้

งบโฆษณาบ้านเรานี่แปลกนะครับ มักจะละลายไปกับสื่อใหญ่ๆ ที่ใช้งบสูงมากๆ อย่างทีวี/วิทยุ ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้มีระบบวัดประสิทธิผลที่เชื่อถือได้เท่าไหร่

พูดถึงโฆษณาเกย์ ผมชอบโฆษณาเบียร์ที่ผู้ชายสองคนแชร์ไม้จิ้มฟันกันน่ะครับ

แลกเปลี่ยนไอเดียครับ
big

Vitaya S. said...

ลองถามเพื่อนๆ รอบๆ ตัวอีกครั้ง มีสองฝ่ายอย่าง
ชัดเจนว่า กล้าถือ กับไม่กล้าถือ อีกกลุ่มมีบัตร
อยู่แล้ว บอกว่า อยากเปลี่ยนไปใช้เลย ตอนนี้อยู่
ที่ว่า ใครเห็นอะไรในบัตรนั้น ตัวตนตัวเอง หรือ
ประโยชน์ที่จะได้รับ หรือความว่างเปล่า

คาสิโนออนไลน์ said...

ขอบคุณค่ะ