Sunday, April 22, 2007

โจทย์รักยากๆ ที่มีเกย์/กะเทย เป็นตัวแปร

เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 21-22 เมษายน 2007

ถ้าเด็กผู้ชายคนหนึ่งโตขึ้นมาและถูกเลี้ยงดูในหมู่นางโชว์ที่เป็นกะเทย เขาจะเป็นกะเทยด้วยหรือเปล่า? แล้ว...เขาจะรักผู้หญิงได้มั๊ย?

ภาพยนตร์เรื่องใหม่ “Me…Myself” เปิดประเด็นชวนคิดให้ผู้ชมร่วมขบผ่านชีวิตตัวละคร “แทน” (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ชายหนุ่มรูปงาม กล้ามสวยที่ประกอบอาชีพเป็นนางโชว์ และ “อุ้ม” (ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ – นักแสดงหน้าใหม่) ที่หน่ายชีวิตเพราะเพิ่งเลิกกับแฟน

ชีวิตเส็งเคร็งของอุ้มถึงจุดเปลี่ยนอย่างมีสีสันน่าตกใจ เมื่อวันหนึ่งเธอขับรถไปชนแทน เขาเลยความจำเสื่อม นอกจากจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูหลายชายที่ไม่ค่อยลงรอยกันแล้ว เธอถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องดูแลหนุ่มผมยาวท่าทางแปลกๆ คนนี้อีกด้วย และแล้วแทนกับอุ้มก็ใกล้ชิดกันมากขึ้นจนกลายเป็นความรัก

ใครที่ได้ดูหนังตัวอย่าง ชมมิวสิควิดีโอ อ่านเรื่องย่อ หรือบทสัมภาษณ์ คงมีหลายคำถามตามมามากมาย สำหรับผมเอง สงสัยจังว่า ถ้าคนที่เป็นสาวประเภทสอง “จริงๆ” (ที่ยังไม่ได้ผ่าตัด หรือเสริมเต้า) เกิดโดนรถชน และความจำเสื่อม...

หล่อนจะลืมไปมั๊ยว่า ตัวเองเป็นสาวประเภทสอง?

ประเด็นชวนคิด พาจิตเตลิดได้นะครับ คิดเล่นๆ ได้ต่อไปว่า เอ...จะมีกรณีไหนบ้างไหมที่ ผู้ชายคนหนึ่งแต่งงานมีเมียแล้ว เกิดถูกรถชน หรือประสบอุบัติเหตุทางสมอง ฟื้นขึ้นมา แล้วเขาคิดว่า ตัวเองเป็นเกย์น่ะ?

ในโลกนี้ มีใครทำหนังเรื่องนี้ยัง?

หนังแนวเปลี่ยนร่างสลับวิญญาณ สลับร่างสร้างรัก หรือรักผิดฝาผิดตัว มีให้เห็นกันบ่อยๆ และมีสีสันแตกต่างกันไป

ในปีนี้น่าจะมีหนังไทยมาอีกเรื่อง “รักไม่จำกัดนิยาม” Unlimited Love ว่าด้วย หญิงสาวไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรูปหล่อมาดแมน เป็นนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ หล่อนพยายามทำให้แฟนหนุ่มนักโฆษณาเชื่อและรักเธอต่อไป ด้วยปรัชญาความรักที่ว่า รักฉันเพราะเป็นฉัน ไม่ว่าฉันเป็นเพศอะไร หรือฉันจะบิดมอเตอร์ไซค์

อีกเรื่องที่สร้างความฮือฮาที่เกาหลีมาก่อน (และน่าจะเอามาฉายเมืองไทย) โดยมีชื่อเรื่องภาษาอังกฤษที่คนหนังเกาหลีบ่นว่า ฟังดูงี่เง่าบรม ตั้งมาได้ยังไง “Bungee Jumping of Their Own” (2001) แต่เนื้อเรื่องไม่ธรรมดานะครับ

เรื่องนี้เกี่ยวกับหนุ่มสุดเฉิ่ม พบรักกับสาวขี้เหล่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็พลัดพรากกัน โดยที่หนุ่มน้อยไม่รู้ว่า วันที่เขารอแฟนสาวมาส่ง แต่ต้องรอเก้อก่อนเขาจะก้าวขึ้นรถไฟเพื่อไปเกณฑ์ทหารน่ะ แฟนสาวได้โดนรถชนตายไปซะแล้ว อีก 17 ปี ต่อมา เขาแต่งงาน มีครอบครัว และไปเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง (และดูเหมือนจะหล่อขึ้นกว่าเดิม) โชคชะตาก็เล่นตลกเข้าให้ เขาค้นพบว่า รักวัยทีนของเขาหวนคืนมา แต่อยู่ในร่างของนักเรียนชายวัย 17

โอ้...กิมจิ! พล็อตสุดยอด!

ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือเกี่ยวโยงกับประเด็นรักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าติดตามเสมอ เพราะชีวิตของเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไบฯ ฯลฯ มีสีสัน และท้าทายความเชื่อและพื้นฐานทางความคิดในเรื่องเพศ และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแต่ละสังคมได้ดี บางทีก็เขย่าได้แรงๆ

คนเราเรียนรู้กันและกันได้ ก็เพราะความแตกต่างนี่แหละ และในที่สุดความแตกต่างจะนำพาให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น คุณว่ามั๊ย?

Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ เป็นหนังรักนะครับ อย่างที่เขาโฆษณาไว้ เพราะฉะนั้นประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับเกย์ และกะเทย ก็ดูจะเป็นรองไปหมด

คนดูคนหนึ่งอาจดูแล้วบอกว่า หนุ่ม “แทน” ในเรื่อง เป็นตัวแทนของกะเทยที่เคยแต่งงานมีลูกแล้ว แต่ก็ยังเป็นกะเทยอยู่ ซึ่งมีให้เห็นทั่วไป โดยที่กะเทยคนนั้นไม่ต้องถูกรถชนและความจำเสื่อม แต่เกิดอยากลอง หรือยังสับสนจนไปมีอะไรกับเพื่อนสาวหรือคนใกล้ชิด

คนดูอีกคนอาจบอกว่า “แทน” ไม่ได้เป็นกะเทยหรอก แต่เขาสับสนอยู่เพราะโตมาในค่ายนางโชว์ ถึงตอนนี้ ก็มีเพื่อนบางคนของผมบางคนเสนอขึ้นมาทันทีว่า งั้นก็ลองสร้างพล็อตให้เขาโตมาในค่ายมวยสิ ไม่มีคำถามแน่ๆ เพราะเขาต้องเป็นผู้ชายชัวร์ อ้าว...อย่างนี้ต้องถามต่อว่า แล้วน้องตุ้ม Beautiful Boxer ล่ะ?

คนดูอีกคนอาจบอกว่า จริงๆ แล้ว แทนชอบแต่งหญิงต่างหาก เพราะแต่งแล้วรู้สึกดี แต่เขาก็เป็นผู้ชายอยู่นะ ในสองประเด็นหลังนี้ สาวๆ ที่ชอบเกย์ออกสาว หรือชอบกะเทย คงถูกใจ สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็นผู้ชาย ไม่ต้องสับสนนะครับ มีสาวๆ แบบนี้เยอะ และอย่าคิดไปเปลี่ยนเธอ ยกเว้น คุณจะแต่งหญิงเอาใจเธอ

คนเรา แต่ละคนมีกรอบไม่เหมือนกัน และเรามักจะอธิบายเข้าข้างตัวเองไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา และธรรมชาติ งั้นไปพิสูจน์กันเอาเองแล้วกัน หนังฉายแล้ว 19 เมษ. แล้วมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

-end-

All rights reserved.

Monday, April 16, 2007

คนไหนเป็นคนไหนล่ะ?

เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 14-15 เมษายน 2007

ตามคำบอกเล่า ที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่จะมีบาร์เบียร์สำหรับลูกค้าเกย์อยู่ที่หนึ่ง วันนั้นอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว ผมกับเพื่อนเดินวนไปเวียนมาก็ไม่เจอ เพื่อนผมที่เดินตามหลังผม เริ่มมองหน้ากัน ส่งสายตาไม่ไว้ใจไกด์หลังแฉะอย่างผมที่เดินหันรีหันขวางอยู่ข้างหน้า

ชะแว้บ...

ผมหยุดกึ้ก เมื่อสายตาไปกระทบกับธงสายรุ้ง มันพลิ้วเบาๆ อยู่ในระยะไกลๆ ตรงหลืบแห่งหนึ่ง เหมือนใครบางคนกำลังกวักมือเรียกหยอยๆ

โหย…มาซ่อนอยู่ตรงซอกนี้เอง เราสาวเท้า ปรี่เข้าไปหาเลยทันที

“น้องๆ ทำไม มาอยู่ข้างในอย่างนี้ล่ะ…” ผมถามพนักงานหลังจากได้ที่นั่งเหมาะๆ มองไปรอบๆ ก็พบว่า เป็นบาร์เบียร์ที่มีขนาดกว้างคูณยาวแล้ว ไม่น่าจะเกิน 4X4 เมตร “…ทำตัวเหมือนหลบๆ ซ่อนๆ ทำไมไม่ไปเปิดร้านอยู่ข้างหน้าโน้นเลยล่ะ สง่าผ่าเผยดี”

พนักงานทำหน้างงๆ แล้วตอบว่า “ก็บางทีลูกค้าจับไม้จับมือ จู๋จี๋กัน จะได้ไม่เขินน่ะพี่”

อ้อ...ผมทำหน้าแสดงความเข้าใจ จริงๆ แล้ว ผมลืมไป ผมไม่ควรนึกภาพเปรียบเทียบยามราตรีของอ่าวนาง ณ. กระบี่ กับสีลม ณ. กทม.

ผมมากับเพื่อนอีกสองคน คนหนึ่งเป็นอดีตเกย์ขาแดนซ์ อีกคนเป็นหญิงสาวสวยผู้ที่ไม่เคยเที่ยวกลางคืนเลยในชีวิต แม้กระทั่งเรียนจบ และทำงานแล้ว ก็ตอนนี้ คุณแม่ของหล่อน ยังทำเหมือนเดิม คือนั่งรอจนกว่าลูกสาวคนสวยจะกลับถึงบ้าน เลยเป็นเหตุให้หล่อนไม่นิยมเข้าบ้านดึกดื่น แต่ที่นี่ ไม่มีคุณแม่

วันนี้เราสามคนตั้งใจจะมาสนุกสุดเหวี่ยงกันหลังจากเล่นน้ำจนตัวดำและนั่งบนเรือจนเบื่อแล้ว

สองโต๊ะในบาร์เล็กๆ แห่งนั้น มีแขกนั่งอยู่ก่อน โต๊ะแรก ดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวฮ่องกง หรือไต้หวัน เขาไม่สนใจใครๆ แต่จดจ่ออยู่กับเกมอะไรบางอย่างที่ผลัดกันเล่นอยู่ งั้น..ไม่นับโต๊ะนี้ เพราะไม่มีสัญญาณอะไรมามอบให้กัน

อีกโต๊ะสิครับ เป็นหนุ่มยุโรปตัวโตสองคน กำลังนั่งคุยกัน พวกเขายิ้มให้เราแทบจะทันทีตอนที่มาถึง สงสัยคงดีใจมั้งที่มีคนมาเพิ่มในพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ สักพัก หลังจากสั่งดริ๊งค์กันจนครบแล้ว ผมเพิ่งสังเกตว่า เพื่อนอดีตขาแดนซ์ของผมที่เป็นรูมเมทในทริปนี้กำลังโปรยยิ้มข้ามฟากไปโต๊ะนั้น อีกครู่ เขาก็ขยิบตาให้หนึ่งในสองนั้นสำทับอีกที สงสัยคืนนี้ ผมต้องย้ายไปนอนห้องอื่นแล้วละมั้ง

บาร์เบียร์เปิดเพลงไปเรื่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง เราอยู่ที่นั่นประมาณชั่วโมงกว่า เพื่อนผมเลิกขยิบตาแล้วล่ะ เพราะหนุ่มยุโรปคนนั้นไม่แสดงทีท่าจะเคลื่อนไหวใดๆ นอกจากลุกไปห้องน้ำหนึ่งครั้ง จนเพื่อนผมถอดใจไปเอง ส่วนเพื่อนสาวของผม ดูจะสนุกที่สุดในคืนนี้ ดูเหมือนเธอจะได้รับการปลดปล่อยจากอะไรบางอย่าง แม้จะชั่วคราวก็ตาม

สักพัก หลังจากดีเจตรงที่อยู่ในห้องเล็กๆ บนชั้นสองหันมาเปิดเพลงเอาใจกันเองให้กับพนักงานข้างล่าง พวกเขาเริ่มเต้นกันเอง ร่ายรำกันเอง เฮฮากันเอง คงลืมไปว่า มีลูกค้าคนอื่นอยู่ตรงนั้น เราเลยคิดว่า คงถึงเวลากลับซะที เพราะต่อไปพวกเขาอาจจะ “ได้” กันเอง

“ในกระบี่มีร้านเกย์เท่านี้เองเหรอ” เพื่อนผู้ผิดหวังของผมโอดครวญ ทำหน้าเซ็งสุดขีดหลังเดินออกมา

ผมนึกสงสัยว่า จำเป็นมั๊ยที่เป็นเกย์ แล้วต้องไปเที่ยวในที่ที่มีแต่เกย์? มันก็คง ไม่จำเป็น แต่ที่นี่ ที่อ่าวนาง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผับ มีบาร์อยู่มากมายสำหรับชายหญิงทั่วไป แต่ทำไม ไม่เห็นมีที่สำหรับเกย์เลยล่ะ? จะมีใครนะ เข้าใจคำว่า “พื้นที่” ที่ควรมีหลากหลายสำหรับนักท่องเที่ยวหลายๆ กลุ่มมั๊ย? เอ...หรือนักท่องเที่ยวเกย์ไปแน่นกันอยู่ที่ภูเก็ตกันหมด? เราเองน่ะแหละ มาผิดที่?

ผมกับเพื่อนตกลงกันว่า ในคืนวันรุ่งขึ้น เราจะไป “สำรวจ” อย่างจริงจัง ผมจัดการเข้าเน็ต และถามคนแถวนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เขาจะบอกแต่เพียงว่า ไม่มีหรอกผับเกย์หรือบาร์เกย์โดยเฉพาะ มีแต่ผับและบาร์ทั่วๆ ไป และก็คงมีเกย์ไปกันมั้ง เราคงต้องพยายามค้นหาดูเอง

เร่ร่อนไปสองสามที่ในคืนวันรุ่งขึ้น จนในที่สุดก็คิดว่า คงเป็นจริงอย่างว่า ไม่มีผับหรือบาร์เกย์หรอก มีแต่ “พันธุ์ผสม” ถ้าเป็นแบบนี้ คงดูไม่ออกหรอกครับว่า ใครเกย์ ใครไม่เกย์ การที่ต้องเดาเอาว่า ใครเป็นใคร มันไม่สนุกหรอกอย่างเวลามาเที่ยวอย่างนี้ เพราะมันใช้เวลา ท้าทายอารมณ์ กับต้องอดทน ถ้าทักผิด คงหน้าแตก

เพื่อนผมยังคงอดทนนั่งรอตรงนั้นในผับแห่งหนึ่งที่ดูฮิปดี หวังใจว่า อาจจะได้ปิ๊งใครในที่สุด มันก็คงเหมือนเป็นเกมสนุกของคนเที่ยวกลางคืนที่ชอบเรื่องฟลุ้กๆ น่ะครับ

หลังจากมองไปรอบๆ เก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ เราเห็นหนุ่มต่างชาติสองคน อายุไม่น่าเกิน 28 ดูจากภายนอกแบบ เดาๆ แล้ว ก็ไม่น่าจะใช่ แต่ดูจากท่าเต้น มันมีแนวโน้มว่าใช่ ผมอดสงสัยไม่ได้ ก็เขายักย้าย เข้าจังหวะ ด้วยลีลาสร้างสรรค์ ปลดปล่อยอารมณ์ขนาดนั้น ผู้ชายทั่วๆ ไป คงไม่เต้นได้มันส์สะใจอย่างงั้นหรอก แถมยังเต้นหันหน้าชนกันอีกต่างหาก ไม่เห็นเข้าหาสาวคนไหน แต่ผมง่วงนอนเกินไปที่จะรอคำตอบ เลยปล่อยให้เพื่อนผม “หาเหยื่อ” ของเขาต่อไป มันเล่าให้ฟังในวันรุ่งขึ้นว่า ได้คุยกับหนึ่งหนุ่มในสองคนนั้นด้วยล่ะ

“มาจากเยอรมันล่ะแก ไอ้ตัวเล็กว่าบอกว่า ไม่ได้เป็นเกย์ เพื่อนมันที่เต้นมันส์ๆ ที่แกชอบน่ะ ก็บอกว่า ไม่ได้เป็นเหมือนกัน มันบอกว่า กำลังมองหาสาวอยู่ แต่ไม่อยากเสียเงิน จะทำไงดี สาวไทยในนี้ก็มีตั้งหลายคน แล้วจะรู้ได้ไงว่า คนไหนเป็นคนไหน คนไหนใจตรงกัน” เพื่อนผมเล่าอย่างอารมณ์ดี

มันคงรู้สึกดีขึ้นน่ะครับ ถึงแม้ในคืนนั้น จะไม่ได้เจอหนุ่มคนไหนที่ถูกใจ แต่ก็ได้เพื่อนคุยคนหนึ่งที่ถูกคอ และที่สำคัญ มันกับหนุ่มเยอรมันคนนั้น ตกที่นั่งเดียวกันคือ ไม่รู้ว่า คนไหน เป็นคนไหนในพื้นที่พันธุ์ผสมแบบนั้น

หมายเหตุ ภาพประกอบไม่ได้ถ่ายจากสถานที่จริง เป็นเพียงภาพประกอบ

-end-

All rights reserved.

Sunday, April 08, 2007

โกยเถอะโกย


เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ นสพ. ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ เมโทรไลฟ์ เซคชั่น 7-8 เมษายน 2007

ในวันเปิดตัวหนังใหม่ที่ตั้งชื่อชวนฉงนว่า “โกยเถอะเกย์” ที่โรงหนัง SF World Cinema เซ็นทรัลเวิร์ด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมรู้สึกสับสนอย่างจัง หลังรายการทอค์ลโชว์และรายการชมภาพยนตร์จบ

ในฐานะที่มีชีวิตส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการทำหนังด้วย ผมจึงไม่อาจจะวิจารณ์งานหนังของคนอื่นได้โดยอิสระ และขณะเดียวกัน ผมก็ไม่บังอาจอวดอ้างว่า งานของตัวเองดีกว่า หรือเลอเลิศกว่าใครๆ แต่ประการใด

แต่ในฐานะเกย์คนหนึ่ง...ถ้าไม่พูดเรื่องนี้ คงมีคนถามว่า ทำไมไม่พูด

ในวันนั้น ก่อนหนังจะฉาย มีรายการทอล์คโชว์สำคัญ นักแสดงนำของเรื่องสองท่านที่รู้จักกันดีคือ “เสนาหอย และคุณเปิ้ล นาคร” ออกมาวาดลีลา แดนซ์สนุกสนานไปพร้อมกับทีมนักเต้นกลุ่มใหญ่ภายใต้แสงสีจัดจ้านบนเวทีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในโรงหนัง

เปิดม่านขึ้น เพลง “YMCA” ก็กระหึ่ม ผมไม่แน่ใจอยู่เหมือนกันว่า ผู้ชมส่วนใหญ่ ซึ่งดูแล้ว น่าจะเป็นชายหญิงทั่วไป จะรู้หรือเปล่าว่า เพลง YMCA เป็นเพลงโปรดของเหล่าชาวสีรุ้งอีกเพลงหนึ่ง และวง The Village People เจ้าของเพลงก็เป็นวงหนึ่งที่โดนใจมนุษย์กลุ่มนี้เช่นกัน

รอบที่ผมไปดู เป็นรอบแรกเปิดซิง สองนักแสดงฝีปากคบกริบเริ่มทอล์คโชว์ในแบบฉบับของเขา โดยอุปโลกน์เรื่องราวว่า เวทีนี้คือโลกแห่งอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า และพวกเขากำลังรำลึกย้อนอดีตเมื่อคราวที่ตกลงรับแสดงหนังเรื่องนี้

หนีไม่พ้นหรอกครับ สิ่งที่นำเสนอต้องเป็นมุกตลกเกี่ยวกับเกย์ เพราะเรื่องนี้เขาสองคนเล่นเป็นคู่รักกัน แก๊กพื้นๆ อย่าง นิ้วก้อยกระดก หรือใส่เสื้อรัดรูป ก็ถูกงัดขึ้นมาเรียกเสียงหัวเราะได้เช่นเคย ผมถามตัวเองว่า แล้วทำไมผมถึงหัวเราะไปกับเขาล่ะ ทั้งๆ ที่เป็นมุกเดิมๆ ใช้กันบ่อยๆ และอีกอย่าง ทำไมไม่คิดว่า เป็นมุกล้อเลียนเกย์ หรือทำเกย์เป็นตัวตลก ให้เป็นที่น่าสมเพช?

นึกดูแล้ว ผมหัวเราะออกมาได้ คงเป็นเพราะรู้สึกว่า วิธีการนำเสนอของเขานั้น ไม่ได้เสียดสีเกย์ให้เสียหาย ไม่ได้นำเสนอด้วยความรู้สึกดูแคลน ไม่ได้เอาเรื่องเกย์มาเหยียดหยามหรือย่ำยี และไม่ได้พยายามทำให้คนดูเชื่อว่า เกย์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างที่มักจะเข้าใจผิด แต่มันเป็นมุกตลกจากตลกมืออาชีพที่รู้ซึ้งว่า จะเล่นมุกตลกที่ Sensitive เกี่ยวกับชีวิตคนยังไง มันถึงจะตลก ลงตัว เป็นกลาง และที่สำคัญ สร้างสรรค์

เขาสองคนทำได้ดีเลยล่ะครับ

ผมก็ดูเพลินไป เว้นแต่มุกที่จัดให้คุณพี่มัม ลาโคนิคแปลงกายมาเป็นรปภ. มาดแมน ซึ่งขัดแย้งกับตัวจริงของเธอ แล้วเธอก็เล่าเรื่องตามสคริปต์ว่า เลิกเป็นเกย์แล้วล่ะ เพราะเป็นแล้วลำบาก ผมเข้าไม่ถึงว่า ผู้จัดกำลังจะสื่อถึงอะไร แต่ที่แน่ๆ ผมได้ข้อมูลที่ว่า เออเนอะ...เป็นเกย์นี่ เป็นแล้วเลิกได้ และคงต้องลำบาก

แล้วก็ถึงเวลาฉายหนัง

โกยเถอะเกย์เป็นเรื่องของคู่เกย์ที่ไปเปิดปั๊มน้ำมันกลางป่า ซึ่งมีผีสาววัยรุ่นต่างด้าวคอยหลอกหลอนผู้คนที่ผ่านไปมา ไม่เว้นกระทั่งพระ หนึ่งในคู่เกย์นั้นเกิดไปมีสัมพันธ์สวาทกับสาวทอมคนหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งสาวทอมมีแฟนแล้ว เป็นดี้สาวสวย หล่อนตัดสินใจทิ้งแฟนดี้ หลังจากขึ้นเตียงกับหนุ่มเกย์ที่หล่อนไม่รู้ว่า เขาเป็นเกย์ เรื่องราววุ่นวายยิ่งขึ้น เมื่อสาวทอมบังคับให้หนุ่มเกย์ตกลงยินยอมมาใช้ชีวิตด้วยกัน

ตัวหนังพยายามนำเรื่องวิบากกรรมที่เกิดจากการกระทำไม่ดีของตัวละครมาผูกโยง และดูเหมือนกำลังจะมีคติบางอย่างสอนใจคนดูแฝงๆ อยู่ ในอีกแง่หนึ่ง เหมือนกำลังจะนำเสนอ "Seriousness" หรือความตั้งใจเอาจริงเอาจังอะไรบางอย่างผ่านความโง่เขลา “Silliness”และข้อผิดพลาดของตัวละครที่เป็นเกย์ กะเทย ทอม และ ดี้ ที่มากันครบเซ็ทในเรื่องนี้ (จริงๆ น่าจะมีไบซักคน)

ผมคิดว่า สิ่งที่หนังเรื่องนี้ขาดไป ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสิ่งคัญอย่างมาก ก็คือ Sensitivity หรือ ความสำนึกรับรู้ต่อประเด็นที่อาจกระทบกระเทือนเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ดังเช่นที่มักจะเกิดขึ้นมาในอดีต

ขออนุญาตยกตัวอย่าง ในฉากที่ตัวละครตัดสินปัญหากันด้วยความรุนแรง ในตอนท้ายๆ เรื่อง ผมคิดว่า เวลาคนดูเดินออกจากโรง แทนที่จะได้คติสอนใจเรื่อง วิบากกรรมที่คนๆ หนึ่งขโมยเงินของคนอื่นไปหาความสุข แต่ได้ทุกข์มาแทน ก็คงจะจดจำได้แต่เพียงว่า ดูสิ คนพวกนี้ มันพวกอารมณ์รุนแรง และมักต้องลงเอยแบบนี้ไง

ผมว่า ฉากตลก เสียดสี เรื่องกะเทยกับห้องน้ำ เรื่องวี๊ดว๊ายกระตู้วู้ พอรับไหว แต่ฉากเรื่องความรุนแรงที่ใช้เดินเรื่อง ทำให้ผมแทบจะลุกออกจากโรงเลยล่ะครับ (แต่ถ้าลุกไป แล้วผมจะมีอะไรมาเล่าให้ฟังกันล่ะ)

การขาด Sensitivity ทำให้คนเราปฏิบัติต่อคนอื่นที่ดูด้อยกว่าอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างความรู้สึกดูแคลน อย่างในหนัง พวกเขาก็มีมุกล้อคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ในเรื่องนี้ ผีสาวเป็นพวกพูดจาไม่...ชะ...

เรื่องพูดไม่ชัดของหล่อนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความตลก แต่ท้ายที่สุดความ "ซิลลี่" กลับมีอำนาจขับเคลื่อนเพื่อโกยรายได้ต่อไปอีก

ผมคงตั้งใจและคาดหวังเกินไปว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ก็เห็นคนดูส่วนใหญ่ในโรงยังคงเพลิดเพลิน หัวเราะสนุกกัน แต่ผมกับเพื่อนมองหน้ากันอย่างไม่เชื่อว่า เพิ่งจะได้ดูหนังอะไรจบไป และอยากให้วันนี้ เขามีแค่ทอล์คโชว์

เว็บไซต์หนัง : http://www.ghoststationmovie.com

-end-

All rights reserved.

Sunday, April 01, 2007

I Am...What I Am

(youtube ถูกกระทรวง ICT บล็อค ดูตัวอย่างโฆษณาได้ที่เว็บ www.ktc.co.th)

เลิกแอบเสียที 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2007 วิทยา แสงอรุณ vitadam2002@yahoo.com

หญิงสาวผมยาวดำขลับยื่นมือออกไป ลูบไล้ใบหน้าหนุ่มหล่อคมเข้มที่นั่งอยู่ตรงข้ามอย่างเบาๆ สายตาแห่งแรงปรารถนาสะกดไปที่เขา แต่…เพียงเพื่อจะพบว่า ดวงตาของชายหนุ่มกำลังมองเลยผ่านข้ามไหล่หล่อนไป แล้วไปหยุดอยู่ที่ชายหนุ่มอีกคนที่นั่งอยู่ไม่ห่างนัก

แวบแรกที่ผมเห็นโฆษณาทีวีชิ้นนี้ ก็คิดถึงเรื่อง “แก๊งชะนีกะอีแอบ” ทันที แต่จริงๆ แล้วหนุ่มคนนั้นในโฆษณาไม่ได้แอบเลยสักนิด เขาจับจ้องไปที่หนุ่มอีกคนอย่างไม่้รู้สึกเกรงอกเกรงใจคนสวยที่อยู่ตรงหน้า เขาไม่มีอาการทุกข์ร้อน และดูเหมือนเขาจะไม่ไยดีใดๆ กับอาการขุ่นๆ ที่หล่อนแสดงออกมาหลังจากรู้ว่า เขากำลังมองใครอยู่

จากจุดนั้น โฆษณาเผยให้รู้ต่อมาว่า นี่เป็นผลงานชิ้นใหม่ของบัตรเครดิต KTC

เคทีซีเคยสร้างความฮือฮากับการออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตเก๋ๆ อย่างบัตรขนาดมินิที่นางแบบสาวใช้ปกปิดยอดปทุมถันของเธอ เรียกว่าเป็นโฆษณาโดนใจคนเมือง แต่ไม่โดนใจคนที่คอยกำหนดคุณค่าแห่งความเหมาะสมในสังคม โฆษณาชิ้นนั้นทำให้เคทีซีผ่านร้อนผ่านหนาวกับกระแสแรงๆ ของสื่อมวลชนมาแล้ว แต่คราวนี้สิครับ น่าสนใจ และท้าทายมากกว่านัก

บัตรใหม่นี้มีชื่่อว่า “I AM” ภาพบนบัตรเป็นรูปผู้ชายติดปีก (รูปปั้นเดวิด) ที่สร้างความฉงน ปนไม่เื่ชื่อสายตาในหมู่ผู้ชมบางกลุ่ม อย่างเช่นเพื่อนรุ่นน้องของผมคนนี้

“พี่ๆ….” เขาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “…เห็นโฆษณาบัตรเครดิตอันใหม่ของเคทีซีหรือยัง…ตกลง นี่มันบัตรสำหรับ PLU หรือเปล่าเนี่ย (People Like Us หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ชาวเรา)?”

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของบัตรเคทีซีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังฉบับหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เป็นบัตรสำหรับลูกค้าผู้ชายกลุ่ม “Metrosexual” หรือผู้ชายเจ้าสำอาง

ในความหมายของท่าน ก็คือ คนที่ชอบดูแล ใส่ใจกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่งตัวเป็น มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภท เสื้อผ้า และคอสเมติคส์ เพื่อให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ ท่านบอกตัวเลขเงินทองของผู้ชายกลุ่มนี้ที่ใช้ไปเพื่อการนี้ คร่าวๆ ก็เป็นหลักแสนต่อปี

ที่สำคัญ กลุ่มชายรักชายก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มเมโทรเซ็กช่วลนี้เหมือนกัน ท่านผู้นั้นให้สัมภาษณ์ไว้

ผมคิดว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ชาญฉลาดและแยบยลไม่น้อยเลยล่ะครับ

รุ่นน้องผมถามต่ออีกว่า “แต่ที่เห็นเนื้่อหาโฆษณา และชื่อบัตรว่า I AM เนี่ย ตกลงมันกลุ่มเมโทรเซ็กช่วล หรือม้ันกลุ่มเกย์เมโทรเซ็กช่วลกันแน่ ผมว่า น่าจะหมายถึงพวกเราทั้งหมดนะครับ ไม่น่าจะหมายถึงผู้ชายทั่วๆ ไป”

คำตอบทั้งหมดนี้ มีอยู่ในเว็บไซต์ของเคทีซีแล้ว คุณจะเห็นรายการชื่อสินค้าคอสเมติคส์ เสื่อผ้าเแบรนด์ไทยและเทศ สถานบริการ สถานประกอบการต่างๆ ที่ชาวสีรุ้งนิยม ถ้าเป็นผู้ชายทั่วไป เปิดเข้าไปดู คงงงๆ

ผมคิดว่า ผลงานโฆษณาและผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตชนิดใหม่นี้ แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นในตลาดนี้ ภาพที่นำเสนอในเนื้องานโฆษณา ถือว่า ก้าวล้ำไปข้างหน้าเกินกว่าจะเป็นเพียงแ่ค่แหย่ๆ เพื่อชิมลาง เพราะตัวเนื้อหาโฆษณานั้นไปไกลเกินเส้นแบ่งเขตที่เรียกว่า “gay vague” หรือการนำเสนอภาพความคลุมเครือของตัวตนคนเป็นเกย์ผ่านสื่อโฆษณาเพื่อจะ “สื่อสารทางอ้อม” กับลูกค้ากลุ่มนี้

ผมเดาว่า เคทีซีคงคิดไว้แล้วหลายตลบแล้วน่ะครับ เพราะโฆษณาชิ้นนี้ปรากฎอยู่ในสื่อกระแสหลัก ซึ่งมีผู้ชมปะปนอยู่หลากหลายเพศ อายุ การศึกษา และทัีศนคติ หากเคทีซีพูดอะไรตรงไปตรงมา แล้วใครๆ พากันพูดต่อว่า เคทีซีออกบัตรเครดิต “เกย์” ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถสร้างความฮือฮาให้ไม่น้อย สื่อมวลชนคงนำมาตั้งคำถามอย่างสนุกสนาน ตกเป็นข่าวได้ ในอีกมุมหนึ่ง ความชัดเจนจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วลูกค้าเป้าหมายหลักจะกล้าถือบัตรนี้ไหม?

เคทีซีมีทางเลือกก็คือ ไม่นำเสนอตรงๆ ก็ได้ แต่การไม่นำเสนอตรงๆ เลยซะทีเดียวก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และอาจจะสร้างความสับสนในหมู่ลูกค้าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นเกย์ ซึ่งกลุ่มนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ลูกค้า “ในใจ” ของเคทีซีที่ตั้งเป้าไว้ โจทย์ก็คือว่า สื่อสารได้แค่ไหนจึงลงตัว

ตรงนี้เอง ผมคิดว่า องค์ประกอบต่างๆ ภาพของชายหนุ่มอีกคนในผลงานโฆษณา ความตั้งใจจ้องมองของชายหนุ่มไปยังหนุ่มอีกคน ภาพไลฟ์สไตล์ของคนเมืองอื่นๆ ที่ปูมาตั้งแต่ต้น ผนวกกับภาพสัญลักษณ์กามเทพหนุ่มติดปีกที่เด่นอยู่บนหน้าบัตร และชื่อบัตรว่า “I AM” น่าจะทำหน้าที่ของมันได้ผล

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่เกย์ คำว่า “I AM” สำหรับเกย์นั้น มีความหมายว่า “ฉันเป็นฉัน ฉันเป็น (เกย์)” คนที่จะพูดอย่างนี้อย่างเต็มปากได้ ต้องผ่านสมรภูมิทุกข์ใจกว่าจะยอมรับตัวเองได้ อีกมุมหนึ่ง สำหรับคำๆ นี้ เกย์คนหนึ่ง-เช่นผม ก็จะนึกถึงคำว่า I AM WHAT I AM ซึ่งเป็นเพลงดังเพลงหนึ่ง ไม่ทราบว่า ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างเดียวกันหรือเปล่า

เพลงๆ นี้ สำหรับเกย์อายุยี่สิบเศษ อาจจะยังไม่เคยรับรู้ถึงพลังของเนื้อหาเพลงม หรือแม้แต่ชื่อเพลงนี้ก็อาจจะไม่เคยได้ิิยิน คำ ๆ นี้จึงไม่สื่อกับเกย์กลุ่มยี่สิบเศษซึ่งเพิ่งจะเรียนจบ อีกอย่างเกย์ในวัยนี้คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของบัตร เนื่องจากผู้ถือบัตรต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่น้อย

ที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ก็คงจะมีบางคนที่ยังจะบอกว่า ฉันไม่กล้าใช้หรอก เพราะชาวบ้านก็รู้สิว่า เป็นเกย์ ผมคิดว่า คนที่ยังกลัวคนอื่นจะรู้ความจริงของต้วเองอยู่ ก็ไม่น่าจะใช่ลูกค้าของบัตรนี้

ลูกค้าของบัตรก็คือ ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่ประกาศอยู่ในรายการอยู่แล้ว และเป็นผู้บริโภคที่พูดคำว่า I AM ได้โดยไม่ต้องแคร์สายตาชาวบ้าน หรือกังวลใจ (หรือคิดไปเอง) ว่าจะมีใครมาดูแคลน พวกเขาคือผู้บริโภคไม่มีความกลัวมาเป็นนายอีกแล้ว พวกเขาคือ ผู้บริโภคที่เข้าใจคำว่า I AM WHAT I AM อย่างลึกซึ้ง ยืดอก ยอมรับความจริงของตัวเอง รักมัน และถ้าจะ Empower หรือมาช่วยเติมพลังให้กันและกันมากขึ้นไปอีกนิด มีอีกบัตรหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะตั้งชื่อว่า

So what? …เป็นเกย์ แล้วไง?

-end-
All rights reserved.