Sunday, January 08, 2006

Lan Yu กว่าจะรู้ว่ารัก

เลิกแอบเสียที/วิทยา แสงอรุณ Metro Lifeนสพ. ผู้จัดการวันเสาร์

7-8 มกราคม 2006

เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ “ชาวรักต่างเพศ” จะซาบซึ้งเข้าถึงเนื้อหาสัจธรรมแห่งรักได้พอๆ กับ “ชาวรักเพศเดียวกัน” เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว เรื่องราวของความรักไม่จำเป็นต้องถูกแยกขั้ว หญิง-ชาย หรือ ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง

สุดท้าย ชีวิตคนเราทุกคน ไม่สมหวัง ก็ย่อมผิดหวัง สวรรค์ไม่ได้เลือกหน้าว่า คุณรักชอบเพศใด แล้วต้องลงเอยแบบใด มันเป็นความเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติและไม่จำเป็นต้องถกเถียงหรือต้องออกแรงเรียกร้อง

“Handong” เป็นนักธุรกิจวัยกลางคนแห่งกรุงปักกิ่งผู้ประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าของกิจการค้าขายระหว่างประเทศ เขาเฉลียวฉลาด มีความเป็นผู้นำ มีเสน่ห์ ตัดสินใจเร็ว และมองการณ์ไกล

ส่วน “Lan Yu” (ซับฯ ไทยในโรงใช้ชื่อ หลัน อี้ หรือจะออกเสียง หลัน-อูวี้ ก็ได้ แต่ในบทความนี้จะใช้คำว่า หลั่น หยู แบบไทยๆ) เป็นนักศึกษาบ้านนอกจนๆ อ่อนต่อโลก แต่เขากลับมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นคง คิดอะไรๆ เองได้ และมีความฝัน

ในปี 1988 ทั้งสองพบกันโดยบังเอิญจากแนะนำของลูกน้องของหันตงว่า มีนักศึกษาอยากหาลำไพ่พิเศษ

พอนักธุรกิจหนุ่มรู้ว่า เด็กหนุ่มหน้าตาดีคนนี้อาจถูกส่งไปบำเรอความสุขให้กับผู้อาวุโสอีกคนหนึ่งซึ่งเขาคิดว่าเป็นคนเลว เขาเลยตัดสินเป็นผู้ซื้อเสียเองด้วยคิดว่า ตัวเองน่าจะเป็นคนดีกว่า (มั้ง)

หลังจากคืนแรกแห่งความสัมพันธ์แบบลูกค้ากับผู้ซื้อผ่านพ้นไป หันตงไม่ได้คิดอะไรมากเพราะเห็นว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นเพียงคนที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไปชั่วคราวเท่านั้น

และแล้วทั้งสองพานพบกันอีกโดยบังเอิญ ความผูกพันต่างวัยในรูปแบบใหม่ก็เริ่มก่อตัวขึ้น แต่ดูเหมือนสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว

สิ่งที่เด็กหนุ่มมอบให้คือความภักดี และความจริงใจทั้งใจ เขาอยากมีชีวิตที่เป็นสุขกับคนที่เขารักที่อยู่เบื้องหน้าคนนี้ เขาจึงบอกรักได้อย่างไม่ต้องกังวล และไม่ต้องกลัวเสียฟอร์ม ไม่เหมือนใครหลายคนที่กลัวเจ็บเสียจนต้องสร้างระยะห่างเอาไว้มากๆ

แต่บุรุษผู้อาวุโสกว่ากลับมองเห็นว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะไม่มีทางจีรังยั่งยืนหรอก เขาไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายกับผู้ชายหรอกนะ แต่หันตงยึดมั่นอยู่กับความคิดที่ว่า “คนเราสองคนหากรู้จักกันมากเกินไป สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน”

คุณผู้อ่านเชื่อเช่นนั้นหรือเปล่า?

แล้วคุณหันก็เลยหันหน้าด้วยการตัดสินใจเดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้นเอง

เขาเริ่มมีความคิดเหมือนใครๆ ว่า อย่างไรเสีย เป็นผู้ชายก็ต้องแต่งงานมีครอบครัวทั้งๆ ที่ครอบครัวของเขาก็ไม่ได้บังคับหรือขู่เข็ญว่าให้รีบแต่งเมียมิฉะนั้นจะไม่ยกมรดกอะไรให้

เขาได้พบกับล่ามสาวสวยทรงเสน่ห์และคิดว่า ตัวเองตกหลุมรักผู้หญิงเข้าให้แล้ว หันตงบอกเลิกกับหลั่น หยู แบบฟ้าผ่า เพื่อไปแต่งงานสร้างครอบครัวตามที่เคยคิดไว้

แต่ก็ไปไม่รอด

ส่วนนกปีกหักอย่างหลั่น หยู ก็เรียนหนังสือจนจบและเริ่มสร้างอนาคตให้ตัวเอง อาชีพสถาปนิกของเขากำลังไปได้สวย และเขาฝันอยากเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนในใจ ก็ยังพร่ำบอกตัวเองตลอดว่า ต่อไปนี้จะไม่รักใครมากมายเช่นนั้นอีกแล้ว เขาไม่อยากเจ็บอีก

แล้วพรหมลิขิตพาให้สองคนมาพบกัน คราวนี้เองที่หันตงเริ่มตระหนักแล้วว่า เขาต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ และเขาก็หวังว่า มันคงไม่สายเกินไป

ภาพยนตร์จีนเรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

เดิมมาจากนิยายของเกย์นิรนามคนหนึ่งที่เขียนเรื่องนี้เป็นตอนๆ บนอินเทอร์เน็ตในปี 1996 จากหลายชื่อเรื่อง สุดท้ายใช้ชื่อเรื่องว่า Beijing Gushi (Beijing Story) ผู้เขียนใช้นามแฝงว่า Beijing Tongzhi

คำ Tongzhi (อ่านประมาณ ถง-จื้อ) แปลตรงๆ ก็คือ Comrade หรือ ‘สหาย’ ในภาษาไทย อย่างที่คนในพรรคคอมมิวนิสต์ไทยใช้กัน แต่ต่อมาในประเทศจีน คำนี้มีนัยแฝงเป็นแสลงหมายถึง คนเป็นเกย์

นิยายรื่องนี้ถือว่าเป็นนิยายเกี่ยวกับความรักของผู้ชายสองคนเรื่องแรกๆ บนอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว และโด่งดังมากในหมู่เกย์ที่ยังต้องหลบซ่อนตัวกันอยู่ เพราะรัฐบาลจีนยังปิดกั้นเรื่องเหล่านี้ สงสัยยังคงยังคิดว่า เกย์เป็นโรคติดต่อ และเลียนแบบกันได้กระมัง

ล่าสุดกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ปักกิ่งมีงาน The 1st Beijing Gay & Lesbian Culture Festival สำหรับฉายหนัง แสดงละครเวที และดนตรี ทำกันเล็กๆ ล่ะครับ แต่ก็ยังไม่วายถูกตำรวจบุก

เรื่อง Lan Yu นี้ ผู้กำกับชาวฮ่องกง คุณ Stanley Kwan รู้ว่า หากจะขออนุญาตถ่ายทำหนังที่มีเนื้อหาแนวนี้คงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนอกจากจะมีฉากนู้ดบนเตียงอย่างโจ่งครึ่มแล้ว (ในโรงฉายฉากนี้ไม่ได้นะครับ อาจโดนบุกเหมือนกัน) ยังพูดถึงเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน (1989) ที่ทางการจีนโดนประณามจากทั่วโลกอีกด้วย

ดูแล้ว คงหมดอนาคตแน่นอนถ้าไปทำตามกฎ วิธีการหลบเลี่ยงของทีมก็คือใช้ฉาก indoor ส่วนใหญ่ และใช้เทคนิคอื่นๆ เข้าช่วยเพื่อจำลองเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทีเดียว

ผมชอบวิธีการเล่าเรื่องของเขาโดยไม่ต้องบ่งบอกถึงปีพ.ศ. ไหนๆ คุณผู้ชมอาจคุ้นๆ กับหนังหลายๆ เรื่องที่ใช้วิธีการบอกช่วงเวลาที่ผ่านไปด้วยการใช้ตัวเลขปีนั้นๆ ขึ้นมาตรงหน้าจอกันแบบตรงไปตรงมา

แต่ในเรื่องนี้ ผู้กำกับไม่ได้ใช้วิธีการเหล่านั้น ก็สามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง

เราจะได้เห็นวิวัฒนาการต่างๆ ที่บ่งบอกช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปได้แทน เช่น จากโทรศัพท์มือถือรุ่นกระติกน้ำ ไปถึงขนาดมือถือที่เล็กลง รวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ดูแปลกออกไปตามยุค อีกวีธีการหนึ่งคือ การบอกเล่าจากปากของตัวละครเองจากตอนที่ทั้งสองพบกันเพื่อให้คนดูรู้ว่า ตอนนี้ฉันอยู่ในยุคไหนแล้ว

Lan Yu ได้นักแสดงมากฝีมืออย่างคุณ Hu Jun มารับบทนักธุรกิจ (ชอบกินเด็กนักศึกษา ในเรื่องต้องดูเหลี่ยมคูของเขาที่เอาเงินและสิ่งของมาหลอกล่อจนหนุ่มนักนักกีฬาแปลกหน้ายอมมาหาที่ห้องพัก)

คุณ Hu Jun ยังเคยเล่นหนังเกี่ยวกับเกย์อีกเรื่องที่เป็นที่โจษจันกันไม่น้อยนั่นคือ East Palace, West Palace เขารับบทนายตำรวจคนหนึ่งที่พบกับเกย์ออกสาวที่ชอบความเจ็บปวด จากความเกลียดแปรเป็นเห็นใจ และแล้วตำรวจรูปหล่อก็เริ่มตกหลุมรักเข้าให้ หนังเรื่องนี้ยังมีเวอร์ชั่นละครเวทีอีกด้วย

ส่วน Lan Yu รับบทโดยนักแสดงหนุ่มจากรั้วโรงเรียนการแสดงสำหรับผลิตศิลปินวัยรุ่น คุณ Liu Ye นั้น มีประสบการณ์การแสดงมาแล้วหลายเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของเขาที่ได้รับบทนำ ตอนนั้นน่าจะอายุยังไม่ยี่สิบ

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ทำให้ผมมานั่งนึกถึงความสัมพันธ์ของคนสองคนในวัยต่างกันลิบ

ในเรื่องนี้ หลั่น หยู น่าจะอายุน้อยกว่าคุณหันตงสักสิบปีเป็นอย่างน้อย เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของนิตยสารเกย์ชั้นนำระบุว่า ไม่ว่า คู่รักเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน อายุที่ห่างกันกลับเป็นปัจจัยส่งเสริมให้อยู่ด้วยกันอย่างยาวนานมากขึ้น ผมไม่รู้ว่า มีกี่คู่จะเป็นเช่นนั้น

ความรักเป็นเรื่องลึกลับพอๆ กับอีกหลายๆ คนที่ในชีวิตหรือทั้งชีวิตยังต้องมุ่งมั่นกระเสือกกระสนค้นหาว่า ตัวเองเป็นใคร และฉันต้องการอะไรกันแน่ แต่ผมคิดว่า ก็ยังดีกว่าอีกหลายๆ คนที่ปล่อยชีวิตไปตามบัญชาของสังคม

ในหนังเรื่องนี้ โชคดีที่คุณหันตงรู้แล้วว่า เขาต้องการอะไร

บอกต่อกันไป : Lan Yu ฉายที่ House RCA แห่งเดียว เริ่ม 12 ม.ค. เช็ครอบก่อนไปชมที่ 02-641-5177-8 / ใครชอบละครเวทีเฮฮาต้องไม่พลาด “วิวาห์ คาบาเร่ต์” อีกผลงานของ Dream Box ดัดแปลงจาก La Cage Aux Folles อันโด่งดังหรือที่รู้จักกันจากหนังฮอลลีวู้ดชื่อ Bird Cage ภาคละครเวทีไทยได้คุณเมทนี บุรณศิริ แต่งหญิงและเป็นเกย์สาว คู่ชีวิตของคุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง เริ่มเปิดเวทีที่โรงละคร bangkok theatre เมโทรโปลิส 27 ม.ค. เป็นต้นไป โทร. 02-713-0801

4 comments:

Anonymous said...

คนแรกเหรอเนี่ย พี่วิทย์คะ เราอยากดูเรื่องนี้มากๆ แต่ปัญหาคือ เราอยู่ต่างจังหวัดเนี่ยแหละ บอกตามตรงนะคะ อิจฉาคนกรุงเทพมากๆ ได้ดูหนังนอกกระแสดีๆตลอดเลย แต่คนต่างจังหวัดอย่างเราเนี่ย รอดูวีซีดีลูกเดียว พี่วิทย์ เราส่งกระทู้รูป bbm จากพันทิพไปให้นะ จขกท คนเดียวกันกับที่ส่งไปให้คราวที่แล้วนั่นแหละ อีกอย่างเราส่งเมล์ไปให้ด้วย เปิดอ่านด้วยนะคะ

Vitaya S. said...

ไม่ได้ดูที่โรงก็ยังอุตส่าห์ตามวีซีดีกัน ต่อไปก็จะมีคนเอาหนังเข้ามาให้พวกเราได้ดูเพิ่มมากขึ้น จนที่สุดมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครจะดูหนังเกี่ยวกับเกย์

อยู่ต่างจัวหวัดไม่ได้ดูหนังดีๆ แต่มีอากาศดีๆ หายใจนะ

Vitaya S. said...

(ท่านผู้อ่านฝากมา เลยมาฝากต่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมครับ)

เพิ่งได้อ่านบทความเรื่อง Lan Yu เลยขอแจม
นิดนึงนะ คือถูกแล้วที่ว่าคำว่า "ถงจื้อ" (tong zhi)แปลว่า comrade เพราะแปลตรงตัวว่า "ร่วมใจ หรือ ใจเดียวกัน" และตอนหลังเกย์จีนเอามาใช้
เรียกกันเอง เป็นคำแสลง คล้ายๆคำว่า เกย์ ซึ่งต่อมาก็ใช้กันแพร่หลาย คำศัพท์ทางการใช้ว่า
"ถงซิ่งเหลียนอ้าย" (tong xing lian ai) แปลว่า homosexual หรือ homosexuality ก็ได้ เพราะแปลตรงตัวว่า "รักเพศเดียวกัน" tong=same, xing=sex, lian ai=love

Anonymous said...

วันนี้ร.ร.เลิกเร็วก็กะจะไปดูเรื่องนี้แล้ว
แต่ก็ไม่ได้ไป เพราะไม่มีเพื่อนไปด้วย TT^TT
ไม่เข้าใจเลยว่าเพื่อนๆทำไมถึงไม่ลองดูหนังเกย์กันมั่ง
เวลาชวนใครไปดูก็ถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ ไม่ใช่เกย์ ชอบดูหนังเกย์ อ่านการ์ตูนย์เกย์ ผิดมั้ยอ้ะ >.<
เรื่องนี้คงต้องรอซื้อดีวีดี(ต้องแอบพ่อดูอีก เฮ้อ....)