Sunday, February 05, 2006

ยกเครื่อง “เกย์พาเหรด”


เลิกแอบเสียที/วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์

vitadam2002@yahoo.com

4-5 กุมภาพันธ์ 2006

ในเมืองไทยมีเกย์พาเหรดอยู่สามแห่ง ที่กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต สองแห่งหลังเป็นเมืองท่องเที่ยว งานลักษณะนี้จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนและได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไปโดยปริยาย ทุกๆ ปี จำนวนผู้ร่วมเดินพาเหรดและผู้ชมงานทั้งไทยและต่างชาติก็เพิ่มขึ้น

ผิดกับที่กรุงเทพ ยิ่งจัด ยิ่งเล็ก ทั้งๆ ที่เป็นงานในเมืองหลวง

แล้วเกย์พาเหรด จัดไปทำไม?

จุดประสงค์แรกเริ่มก็คือ เพื่อแสดงตัวตนให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นว่า ในสังคมมีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่มีเฉพาะชายรักหญิง และหญิงรักชายอย่างที่เข้าใจผิดๆ กันมาตลอด และคนที่แตกต่างเหล่านี้ก็สมควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะเป็นสมาชิกในสังคมเหมือนกัน

การจัดงานเกย์พาเหรดหรือ เรียกว่า “Pride Parade” เริ่มต้นที่อเมริกาหลังเหตุการณ์จลาจลในเดือนมิถุนายนเมื่อปี 1969 ที่บาร์เกย์แห่งหนึ่งชื่อ สโตนวอลล์ ในนิวยอร์ค

ตำรวจรังแกและรังควานคนเที่ยวในย่านนั้นเป็นประจำ บรรดาลูกค้าของบาร์สุดทนอีกต่อไป เลยลุกขึ้นมาต่อสู้กับคนในเครื่องแบบ เหตุจลาจลวุ่นวายหลายวันนั้นกลับช่วยปลุกจิตสำนึกให้รู้จักรวมตัวกัน และต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองแทนที่จะยอมตกเป็น “เหยื่อ” อยู่ร่ำไป เกย์พาเหรดที่อเมริกาเลยจัดขึ้นทุกปีในเดือนมิถุนายน และหลายๆ ประเทศก็จัดงานเฉลิมฉลองแบบนี้ขึ้นเหมือนกัน

แต่ในเมืองไทย เรา “ไม่มี” และ “ไม่เคย” มีจิตวิญญาณการต่อสู้เช่นนั้น

อาจเป็นเพราะคุณค่า “ไทยนี้รักสงบ” กระมัง? เมื่อใครโดนรังแก ก็ถือซะว่า เป็นกรรมเก่าไปละกัน ครั้นจะหันหน้าไปทางไหน ก็ไม่รู้จะพึ่งใคร อีกอย่าง การทำอะไรในที่สาธารณะเช่น การออกมาเดินขบวนบนถนนนั้น ดูแล้วไม่ค่อยงามตามมารยาทไทย

แต่จริงๆ แล้ว ในเมืองไทย เรามีคนที่ยังแอบอยู่เยอะเกินไปต่างหาก งานอะไรที่เกี่ยวกับเกย์เลยต้องต่อสู้กันเองก่อนเป็นประจำ

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ไม่รู้จะโทษใคร ผมก็คงต้องโทษอคติที่ว่า “เป็นเกย์ ผิดปกติ” เพราะมันเข้าครอบงำจิตใจของคนที่เป็นเกย์เอง และคนที่ไม่ได้เป็น ทำให้คนสองกลุ่มนี้กลายเป็นตัวแทนของเสียงที่มักจะพูดว่า ไม่ชอบเกย์พาเหรดเพราะ “ไม่เห็นจำเป็นต้องออกมาประกาศตัวอะไรเลย ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว”

แต่ก็มีคนอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งเกย์ที่ไม่ได้ปิดบังหลบซ่อน ก็ไม่ชอบเกย์พาเหรดเหมือนกัน เหตุผลของพวกเขาก็คือ การออกมาเต้นระบำบนถนนในชุดเสื้อผ้าน้อยชิ้น กระทั่งสวมกางเกงในตัวเดียว นั้นไม่เหมาะสม

แต่น่าแปลกนะคุณ ไม่ค่อยเห็นมีใครคอมเม้นท์งานเดินแฟชั่นโชว์ต่างๆ ที่กึ่งหรือเกือบเปลือย หรือภาพหวิวต่างๆ ในสื่อ หรือเราเริ่มชินกันแล้วกับการสื่อสารในลักษณะนั้น?

งั้น...ถ้าคิดว่า เกย์พาเหรดคือการเดินแฟชั่นบนท้องถนนแทนล่ะ คุณจะยอมรับกว่าไหม?

โดยส่วนตัว ผมมองเกย์พาเหรดว่า คืองานรื่นเริงบันเทิงอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และทรานเจนเดอร์ (ทีจี หรือสาวประเภทสองที่เรียกกัน) มารวมตัวกัน ได้รู้จักกัน ทำงานร่วมกันและกล้าที่จะบอกใครๆ ว่า ฉันภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็น

จุดนี้เองคือ ความแตกต่างจากสิ่งที่หลายๆ คนคิด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมรับตัวเองว่าในใจมีอคติอยู่ พวกเขาชอบบอกว่าการกระทำเช่นนั้น คือ “การออกมาประกาศตัว”

มันไม่เหมือนกันนะครับ

สำหรับท่านที่มักชอบเสนอว่า “อย่าออกมาประกาศตัว” ลองคิดทบทวนดูดีๆ ลองมองอีกมุมว่า คนที่เขาไม่กลัว ไม่เกลียด และไม่รังเกียจในสิ่งที่เขาเป็นแล้ว เขาก็ย่อมรู้สึกดีกับสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่หรอกหรือ?

เขาก็เลยแสดงความยินดีกับสิ่งที่เป็น นั่นไม่ใช่การ “โชว์ออฟ” แต่เป็นความต้องการจะแจ้งว่า ฉันได้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งความกลัวและการแอบแล้วต่างหาก ฉันเลยกล้าที่จะพูดและบอกใครได้ว่า ฉันเป็นใคร ไม่ว่าในสถานการณ์ไหน เพราะมันคือ “สิ่งปกติ”

ดังนั้นมันจึงไม่ได้เรียกว่า เป็นการประกาศตัว แต่เรียกว่า เป็น “การหายขาดจากความกลัว” ต่างหาก

ก็ในเมื่อเกย์เป็นสิ่งไม่ผิดปกติ แล้วจะกล่าวโทษการแสดงออกใดๆ ของเกย์ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ไปทำไมกัน?

อีกอย่าง ลองคิดดีๆ นะครับ ลองคิดด้วยจิตใจที่ปราศจากอคติใดๆ อย่างแท้จริง แล้วมองไปที่งานตรุษจีนที่เยาวราช งานวาเลนไทน์ตามที่ต่างๆ งานตำรวจ ทหาร หรืองานอะไรก็แล้วแต่ที่จัดในที่สาธารณะ งานเหล่านี้ เกิดมาจากความรู้สึกอยากเฉลิมฉลองและรู้สึกยินดีปรีดากับสิ่งที่รู้สึก และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้ใครๆ ได้รู้ ไม่ใช่หรอกหรือ?

ไม่เห็นมีใครเรียกงานพวกนี้เลยว่า “งานประกาศตัว” และในการจัดงานเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อความรื่นเริงและบันเทิงด้วย ถ้าไม่เอาเรื่องการแต่งกายมาเป็นตัววัด ตกลงมันต่างยังไงกับขบวนเกย์พาเหรด?

ทว่า น่าเสียดาย ที่ผ่านมากระบวนการจัดเกย์พาเหรดในเมืองไทยไม่ได้พัฒนา

เราจะเห็นขบวนแห่เพียงไม่กี่ขบวน เดินเบียดๆ ไปกับรถเมล์และรถราต่างๆ บนถนนแคบๆ ผู้เข้าร่วมขบวนส่วนใหญ่ก็มาจากภาคธุรกิจบันเทิง คนที่ไปยืนเต้นบนรถขบวนก็มีทั้งเด็กบาร์ เด็กออฟ เด็กขาย ผู้จัดก็เป็นฝรั่งเจ้าของบาร์ย่านสีลมเสียส่วนใหญ่ ภาพที่ออกมาโดยรวมจึงเป็นภาพที่ติดลบสำหรับผู้คนไปโดยปริยาย

เราจึงเรียกขบวนพาเหรดนี้ว่าเป็นตัวแทนของทุกๆ กลุ่มก็ไม่ได้ เพราะในคณะผู้จัดงานที่เรียกว่า Bangkok Pride Committee ก็มีแต่ฝรั่งเจ้าของกิจการเป็นส่วนใหญ่ และส่วนใหญ่ก็คือผู้บริหารร้านอาหารและสถานบันเทิงแห่งสีลมซอย 4

ผู้ประกอบการคนไทยจากย่านอื่นๆ จึงรู้สึกว่า ไม่อยากมีส่วนร่วม เพราะเห็นว่า งานที่จัดขึ้นก็จะส่งผลประโยชน์ให้กับร้านค้าต่างๆ ย่านสีลม แทบทั้งสิ้น

ในเมื่อการจัดขบวนพาเหรดเป็นเรื่องของงานรื่นเริงบันเทิง ก็ย่อมมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมไม่ได้มองประเด็นเรื่องการทำมาค้าขายเป็นเรื่องต้องกีดกันออกไปจากงาน และในความจริงแล้ว ทุกๆ ปี รายได้ของการจัดงานที่ได้มานั้น Bangkok Pride Committee ก็มอบให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ช่วยเหลือคนทั่วไปไม่ใช่เฉพาะเกย์

งานพาเหรดจึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อธุรกิจแต่อย่างเดียว หัวใจหลักก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้สนับสนุนงานและธุรกิจอยู่ได้ และต้องมีส่วนเกื้อกูลคนในสังคมได้เช่นกัน ตอนนี้มีแต่เด็กบาร์ใจกล้า แล้วเมื่อไหร่จะมีหนุ่มออฟฟิศใจกล้าออกมาเดินบ้าง ?

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Bangkok Pride Committee เปิดให้ใครก็ได้สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางกันใหม่ และบรรดาเจ้าของกิจการฝรั่งทั้งหลาย ก็เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรมีการเปลี่ยนแปลงกันได้แล้ว

พวกเขายินดีที่จะเปิดรับความคิดเห็น และความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายทั้งที่มาจากภาคเอกชนและภาคการกุศล ขณะเดียวกันก็บอกว่า ยินดีจะไม่เดินนำหน้า แต่ขอเป็นสปอนเซอร์งานต่อไป

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะเห็นเจ้าของกิจการ ห้างร้าน นักธุรกิจ หรือองค์กรใด ในทุกๆ พื้นที่ ในทุกๆ สาขา ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานบันเทิงในย่านใดเป็นการโดยเฉพาะ มาร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสาธารณชนกัน เพื่อการทำให้คนเห็น “ตัวตน” เพื่อความเข้าใจอันดีและลดอคติในสังคมกัน คุณอาจจะลงแรง ลงเงิน หรือความแสดงความคิดเห็น แต่ไม่อยากแสดงตัว ก็ย่อมทำได้

งานเดินพาเหรด อาจจะมีต่อไป หรือไม่มีต่อไป ผมคิดว่า ไม่สำคัญ แต่งานกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันที่จัดโดยชุมชนชาวสีรุ้งควรจะมีต่อไป จะเป็นในรูปแบบไหนก็ได้ เพราะนั่นแหละ คือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกัน

www.bangkokpride.org

บอกต่อกันไป : “มีน” หมอดูไพ่ Tarot เกย์ชื่อดัง เปิดสำนักแล้ว พบเขาได้ที่ “Sunstar” หลังวัดเสมียนนารี ประชานิเวศน์ 1 นัดหมายก่อนไป 01-665-2211 หรือ 01-939-6244 www.meentarot.com / EVS ส่ง Rice Rhapsody หนังครอบครัวคุณแม่กับลูกชายเกย์สามคน ลงแผ่นแล้ว ชื่อไทย “อร่อยรักข้าวมันไก่”/ ได้ข่าวแว่วมาว่า TransAmerica จะฉายที่เมืองไทย รอติดตามกัน

-end-

All rights served.

4 comments:

Anonymous said...

พี่วิทย์อัพช้ามาก เราเข้ามาอ่านตอนสี่โมงเย็น ยังไม่ยอมอัพเลย งานยุ่งเหรอคะ งาน pride ในประเทศไทยกลายเป็นงานเงียบๆไปเลย แทบไม่มีข่าวเรื่องนี้เล็ดลอดออกมาสู่สังคม ที่จริงเราอยากให้งาน gay pride เป็นอย่างเมืองนอกนะคะ อยากให้จัดงานใหญ่ระดับงานมาดิกราส์เลยยิ่งดี แต่คงเป็นไปไม่ได้ อยากให้มีการยอมรับ ให้อิสระในการแสดงออก เราเคยอ่านเจอมาว่าเมืองไทยจะจัดงาน pride แต่ละที ขอปิดสีลมทั้งสายก็ไม่ได้ ตำรวจถือว่าเป็นการกีดขวางจราจร เมื่อไหร่เกย์ในประเทศไทยจะได้รับการยอมรับก็ไม่รู้ ทั้งๆที่เกย์ก็มีความสามารถเหมือนกัน

Anonymous said...

ผมไม่เคยเห็นว่างานจัดกันแบบไหน
แต่ผมว่าอย่าจัดดีกว่าถ้ามันทำให้ภาพลักษณ์เกย์ติดลบมากกว่าเป็นบวก

ในเมื่อเราไปบังคับความคิดของคนดูขบวนไม่ได้
เราน่าจะคิดว่าจะทำยังไงให้ความคาดหวังของเขาเกิดประโยชน์กับเราดีกว่า

Anonymous said...

เรื่อง pride ผม No Comment ครับ
ขอไม่พูดดีกว่า เดี๋ยวพี่ "ของขึ้น" อุอุอุ

ส่วนเรื่อง Transamerica ผมเห็นแว้บ
ในเว็ฐของเครือ APEX ครับ
คาดว่าคงมีโอกาสได้ดูในโรงหนัง

Anonymous said...

เง้อออออออ เข้ามาดูบลอคพี่ช้าไป TT^TT ข่าวเรื่องนี้ไม่เหนได้ยินเลยอ่ะ เสียดายจังอยากไปดู