Sunday, February 12, 2006

กลัวได้...แต่อย่าหยุดศรัทธาและเชื่อมั่น


เลิกแอบเสียที/วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์

vitadam2002@yahoo.com 11-12 กุมภาพันธ์ 2006

อีกไม่กี่วันแล้วครับที่หนังเรื่อง Brokeback Mountain จะมาวัดภาวะทางอารมณ์ของผู้ชมชาวไทย

จากชื่อเสียงของตัวหนังที่ฉายแล้วในหลายประเทศ ผมไม่เชื่อว่า หนังเรื่องนี้จะทำได้แค่เพียงกระตุ้นต่อมน้ำตาและสร้างอารมณ์ซึมๆ เหงาๆ สักชั่วครู่ให้ผู้ชมหลังดูจบ

มันน่าจะมีพลังอะไรบางอย่าง เพียงพอที่จะกระตุ้นต่อมความรู้สึกนึกคิดอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของใครบางคน ในที่สุด คนๆ นั้นอาจจะลองหันไปทบทวนความจริงของตัวเองที่เกาะกินในใจมานานแสนนาน

ความจริงในใจของใครหลายคนที่อ่านคอลัมน์นี้ คือความเจ็บปวดที่คุณบอกใครออกไปไม่ได้ หรือมันอาจเป็นความรัก หรือแรงปรารถนาที่ใจกลัวถูกปฏิเสธจากอีกฝ่ายอยู่ร่ำไป เพราะสำหรับคุณแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นถูกจัดเป็นเรื่องต้องห้าม แต่จริงๆ มันกลับมีความหมายต่อชีวิตเกินกว่าจะปฏิเสธ

เอาเถอะครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นชายเกย์ที่ปิดบังมนุษย์ทุกผู้ในโลกนี้ และสาบานว่าจะกลบมันไว้จนวันตาย หรือปิดบังคนที่คุณรักในจังหวะชีวิตประจำวัน หรือจะปิดบังความจริงของตัวตนในบางสถานการณ์ที่ต้องคอยบอกว่าจำเป็น เลยต้องยอมจำใจ หรือคุณเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่นิยมชมชอบสะสมหนังสือการ์ตูนแนวชายรักชายเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่กล้าบอกคนสนิทที่สุดในบ้าน ได้แต่แอบอ่านยามวิกาล

คนเราล้วนมีความลับด้วยกันทั้งนั้น และคนเราต่างมีความกลัวด้วยกันทั้งนั้น

เราอาจสูญเสียตัวตนของเราไปในบางครั้ง แต่มีบางอย่างที่ไม่ควรจะสูญเสียเลย นั่นคือ ศรัทธา และความเชื่อมั่น

ในโอกาสที่หนังดีเรื่องนี้กำลังจะเข้าฉายในอาทิตย์หน้านี้แล้ว ผมขอเป็นอีกคนหนึ่งที่ศรัทธาและเชื่อมั่นหนังเรื่องนี้สุดๆ

ในช่วงนี้ คุณจะพบบทความต่างๆ ที่รายงานกันผ่านสื่อมากมาย แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน และยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงในรายละเอียด นั่นก็คือ ศรัทธาและเชื่อมั่นของผู้เขียนบทหนัง

ตอนที่คุณ Diana Ossana ผู้ร่วมเขียนบทและโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Brokeback Mountain ได้อ่านเรื่องสั้นต้นฉบับของคุณ Annie Proulx (แอนนี่ พรู) เรื่องนี้จบลง เธอไม่ลังเลเลยว่า สิ่งที่เธอจะทำจะล้มเหลวทั้งๆ ที่การนำเรื่องผู้ชายรักกันมาทำเป็นหนังรักสะเทือนอารมณ์ และเปิดเผยความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างลึกซึ้งถึงแก่น โดยไม่ต้องอาศัย “ความตลก” เป็นตัวนำทางการตลาด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงที่จะลงทุน

จดหมายฉบับหนึ่งของเธอที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Advocate เล่าว่า ตอนที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จบ เธอและผู้ร่วมงานอีกคนคือคุณ Larry McMurtry ตัดสินใจควักกระเป๋าตัวเองอย่างไม่ลังเล จัดการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้เพื่อไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

คนสำคัญต่างๆ ในวงการภาพยนตร์ที่ได้อ่านบทที่เธอและลาร์รี่ส่งให้ ต่างไม่ปฏิเสธว่า เป็นบทดัดแปลงที่เยี่ยมยอดมาก แต่ไม่มีใครกระโดดเข้ามาลงทุนจริงจัง ในบางคราว แม้จะมีคนเกิดสนใจอยากซื้อบทขึ้นมา และแม้จะมีผู้กำกับชื่อดังอยากจะเข้าร่วมงานนี้แล้วก็ตาม ทั้งเธอและลาร์รี่ก็พบว่า ยังต้องเจอปัญหาเรื่องหานักแสดงสองคนที่จะยอมเล่นบทคาวบอยเกย์ตกหลุมรักกันไม่ได้เสียที

ใครเล่าจะกล้าเป็นตัวแทนความรักของเกย์ ทั้งๆ ที่มันก็รักและทุกข์เหมือนๆ คนทั่วไป

คุณไดอาน่าเล่าต่อว่า กว่าจะเป็นหนังเรื่องนี้ได้ ทุกคนในกระบวนการสร้างล้วนตกอยู่ใน “ความกลัว” ด้วยกันทั้งนั้น เพราะหนังเรื่องนี้ท้าทายกฎเกณฑ์กระแสหลักของสังคมในแทบทุกแง่ทุกมุม มันคือความท้าทายที่น่ากลัวขนาดมหึมาเพราะยังไม่เคยกล้านำเสนอมาก่อน

เธอบอกต่อไปว่า บทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นให้ความเคารพต้นฉบับเรื่องสั้นอย่างมาก ในขั้นตอนการสร้างนั้น เธอและผู้ร่วมเขียนจึงไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนความเป็นไปในความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนที่ตกหลุมรักกันอย่างลึกซึ้งตามต้นฉบับที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นฉากจูบดูดดื่ม ฉากสัมพันธ์ทางเพศ และฉากสัมพันธ์ความขัดแย้ง เพราะนั่นคือความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และเป็นความจริงของชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องอาย หรือรู้สึกผิดที่จะนำเสนอให้ผู้ชมรับรู้

ผมคิดว่า ระยะเวลาตั้งแต่คุณไดอาน่าผู้เขียนบทได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ในปี 1997 จนหนังเริ่มลงมือถ่ายทำในปี 2004 เป็นเวลายาวนานพอสำหรับใครหลายๆ คน ที่น่าจะถอดใจยอมแพ้ไปตั้งนานแล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนบททั้งสองยังคงยืนหยัดหนักแน่นแม้จะมีความกลัวและความไม่แน่นอนรอคอยอยู่เบื้องหน้าก็คือ ทั้งสองคนเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังของหนังเรื่องนี้

แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ความสมจริงของเนื้อหาที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของความรักต้องห้ามในสังคมยุคนั้น ยังคงสอดคล้องต้องตรงกับความเป็นจริงในสังคมยุคปัจจุบัน

ไม่รู้ว่ามีคนอีกกี่ล้านคนในโลกนี้ที่ไม่กล้าบอกใครออกไปว่า ฉันรักผู้ชายด้วยกัน กระทั่งวันที่สูญเสียคนๆ นั้นไป

ก่อนจะเขียนบทความในสัปดาห์นี้ ผมนั่งอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้อีกรอบ ความรู้สึกสะเทือนใจไม่ได้มีมากมายรุนแรงเท่าตอนที่ได้อ่านครั้งที่แล้ว แต่มันกลับเกิดประกายความคิดใหม่ๆ จากการได้อ่านซ้ำในครั้งนี้

ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้ และยังจำต้องแอบอยู่ จะทำลายความกลัว และลองก้าวเข้าไปค้นหาความรู้สึกของตัวเอง จงมีศรัทธาและเชื่อมั่น แม้จะมีความไม่แน่นอนรออยู่เบื้องหน้า เหมือนที่คุณไดอาน่ามีอยู่ตลอด

เสียดายหากไม่ได้เข้าฉายทั่วประเทศ โอกาสและประสบการณ์จากการดูหนังเรื่องนี้ในโรงอาจถูกจำกัด แต่ผมก็เชื่อว่า คุณจะได้ค้นอะไรได้อีกมากมายและเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของคุณได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้

บทแปลเพลง "A Love That Will Never Grow Old"

บอกต่อกันไป : Brokeback Mountain เริ่ม 14 ก.พ. นี้ SFX CINEMA (เอ็มโพเรียม, ลาดพร้าว), SF CINEMA CITY (มาบุญครอง, บางกะปิ), ลิโด้, EGV (ซีคอน), House RCA, และสยามพารากอน / อย่าลืมไปชม เทศกาลหนังอกหัก สำหรับคนยังไม่มีแฟนและอกหัก ชมฟรีที่ House ตั้งแต่เที่ยงวันที่ 14 ก.พ. 02-641-5177-8


-end-

All rights served.

5 comments:

Anonymous said...

พี่วิทย์พูดถูกมากๆ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่าอ่านนิยายเกย์ หวังว่าซักวันคงจะกล้าพอที่จะเปิดเผยตัวเองว่าเป็นสาววาย พี่วิทย์ bbm เข้าที่เมเจอร์ เชียงใหม่ด้วยค่ะ อ่านเจอใน นสพ มา อยากดูเรื่องนี้ที่สุดเลย

Anonymous said...

เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เรา (สองคน) ขับรถจาก Santa Monica beach จนไปถึง downtown LA แต่สุดท้ายก็ได้ดู Brokeback Mountain จนได้ หลังจากหาโรงหนังอยู่นานพอสมควร ที่น่าสนใจปรากฏว่าในวันนั้นผู้ชมส่วนใหญ่ที่จูงมือกันเข้าไปดู เป็นคุณลุงคุณป้า หรือคุณตาคุณยาย หนังให้ความรู้สึกอบอุ่น ความรู้สึกขัดแย้ง ความรัก และความสูญเสีย อย่างลงตัวทีเดียว ที่สำคัญก็ให้ความรู้สึกดีๆ กับเรา (สองคน) ในคืนนั้น และบ่อยครั้งที่เราก็ยังพูดถึงหนังเรื่องดังกล่าวเสมอๆ เราเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากฟิล์มทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากชีวิตของเรา
ขอบคุณสำหรับความเชื่อมั่นและศรัทธาที่เรามีให้กัน

หวังว่าทุกคนคงจะมีความสุขกับหนัง ที่จะลงโรงที่เมืองไทยเร็วๆ นี้นะครับ

Anonymous said...

อยากดูอ้ะ >.<
เราเองก็ยังไม่กล้าบอกพ่อแม่เหมือนกันว่าชอบอ่านการ์ตูนเกย์....

Anonymous said...

ผมอ่านงานคุณวิทยาจากใน GM ประจำครับ แต่ครั้งนี้เพิ่งมีโอกาสได้เข้าบลอคของคุณ ต้องขอบใจคนที่ส่งบลอคนี้มาให้ด้วย

เมื่อวานนี้ผมเพิ่งไปดู BBM มา คิดว่าหนังแฝงประเด็นเอาไว้เยอะทีเดียว เป็นเรื่องจริงที่ยังคงอยู่ในสังคม ทั้งประเด็นเรื่อง Homophobia ที่พ่อเฒ่าทั้งสองถูกฆ่าตาย, ประเด็นที่เกย์ต้องแต่งงานบังหน้า เหมือนหนังจะสื่อว่า สังคมเรามีแบบนี้มากมายเหลือเกินในฉากที่แจคคุยกับสามีภรรยาคู่หนึ่งในร้านอาหาร แล้วสามีคนนั้นชวนไปเที่ยว, ประเด็นของความกลัวที่จะเปิดเผยต่อโลกว่าเราเป็นอะไร, และประเด็นที่เอนนิสถามแจคว่าเวลาที่มองคนอื่น เคยรู้สึกไหมว่าเค้าเหล่านั้นรู้ว่าเราเป็นอะไร และอีกหลายประเด็นที่ความคิดผมยังไม่ตกผลึกในตอนนี้

ไม่ผิดหวังเลยที่ได้ดูเรื่องนี้ ผมว่าสร้างได้ดีครับ

Anonymous said...

ขอบคุณครับที่มาแสดงความคิดเห็นกัน
คนที่ไม่กล้าจะรัก หรือมีรักแล้ว จะได้แง่คิด
ใหม่ๆ คนที่ไม่กล้าจะบอก หรือบอกแล้ว แต่
ไม่กล้าบอกทุกๆ คน ก็จะได้แง่คิดใหม่ ต่อไป
เวลาเจอใครที่ถูกใจแต่ปิดตัวเหมือนเอ็นนิส ก็
จะได้รู้ว่า จะช่วยเขาได้ยังไง อย่างน้อยมีหนัง
เรื่องนี้ให้ดู เผื่อจะคิดได้

อ่านการ์ตูนเกย์ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น ใครจะว่ายังไง
ก็ช่าง อย่างไปสน...ไม่ได้ทำอะไรผิดซะหน่อยเนอะ