Sunday, March 26, 2006

วิวาห์ (ฮาเฮ) คาราเร่ต์ นางโชว์

เลิกแอบเสียที/ วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์ vitadam2002@yahoo.com

25-26 March 2006

เปิดการแสดงขึ้นแล้ว หลังจากเลื่อนมาหนหนึ่งจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำเอาคอละครเวทีหลายคนต้องรอไปสองเดือน

ผลงานชิ้นล่าสุดของทีมดรีมบอกซ์ ผู้ผลิตละครเวทีชั้นนำที่มีผลงานถูกใจผู้ชมละครส่วนใหญ่ที่นิยมละครตลกเบาสมอง คราวนี้หยิบเอางานคลาสสิกฮาแตกของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส Jean Poiret (ฌอง ปัวเรต์) มาดัดแปลง แล้วตั้งชื่อไทยซะกิ๊บเก๋ว่า “วิวาห์คาราเร่ต์”

บทประพันธ์ดั้งเดิมเคยทำเป็นละครเวที และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วทั้งเวอร์ชั่นฝรั่งเศส (La Cage Aux Folles ปี1978) และเวอร์ชั่นอเมริกัน (The Birdcage ปี 1996) เรื่องหลังนี้มีโรบิน วิลเลี่ยมส์ กับนาธาน เลนรับบทจับคู่กัน

แม้เวอร์ชั่นละครเวทีของดรีมบอกซ์จะไม่ได้เป็นละครเพลง แต่ก็มีเพลงประกอบอยู่หลายเพลง ล้วนคุ้นหู ฟังง่าย เป็นเพลงฮิตที่ได้ยินกันมาแล้วส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้ออกแนวคาบาเร่ต์อย่างที่ใครๆ คิด ไม่มีการแสดงลิปซิงค์ นักแสดงตัวหลักๆ ร้องเพลงกันสดๆ พร้อมออกลีลาท่าเต้นแบบเบาๆ

“อำพล” (นีโน่ เมทนี บูรณศิริ) รับบทดาวค้างฟ้าประจำคลับคาบาเร่ต์ในนาม “อมราภรณ์” คุณอำพลเป็นคนประเภทเอาแต่ใจตัวเอง ขี้งอน ขี้หงุดหงิดเพราะเริ่มรู้สึกตัวว่าสังขารกำลังร่วงโรย และมักคิดวิตกจริตเสมอๆ ว่าจะต้องถูกทอดทิ้งแน่ๆ

อำพลอยู่กินกับ “ยอด” (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เจ้าของคลับแห่งนี้ในเมืองท่องเที่ยวชายทะเลแห่งหนึ่งอยู่ด้วยกันมาก็ยี่สิบปี และอยู่อย่างเปิดเผย พวกเขาอาศัยอยู่บนชั้นสองของคลับแห่งนั้นเอง

สองเกย์รักใคร่ปรองดองกันดีโดยที่อำพลยังรับบท “คุณแม่ผู้แสนดี” ให้กับลูกชายคนเดียวของยอด “เริงฤทธิ์” (ตะวัน จารุจินดา) กำเนิดจากอุบัติเหตุในคืนหนึ่งที่ยอดโดนผู้หญิงคนหนึ่งปล้นสวาทไปโดยไม่รู้ตัว

เรื่องราวชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อเริงฤทธิ์ หนุ่มน้อยอายุยี่สิบประกาศแต่งงานกับลูกสาวนักการเมืองคนดังที่รับรู้กันทั่วไปว่ารังเกียจเกย์-กะเทยเข้าขั้นอักเสบรุนแรง ครอบครัวของว่าที่เจ้าสาวกำลังจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนบ้านของฝ่ายชายเพื่อดูให้มั่นใจว่า ลูกเขยในอนาคตมีฐานะชาติตระกูลเหมาะสมกันดีหรือไม่ และขณะเดียวกันก็กำลังหลบหนีนักข่าวที่กำลังตามข่าวฉาวของพรรคไปด้วย

การมาเยือนของแขกคนสำคัญทำเอาคลับของยอดต้องวุ่นวายไปหมดเพราะต้องจัดการ “แอบ” ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเรื่องอาชีพการงานที่ทำมาหากินอยู่ และชีวิตส่วนตัวของทุกคนทั้งหมด เรียกว่า ต้องสลัดความเป็นจริง แล้วอุปโลกน์ชีวิตใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงให้เป็นครอบครัว “ปกติ” ให้ได้

เพียงแค่เปลี่ยนของประดับตกแต่งในบ้านอย่างรูปปั้นผู้ชาย เฟอร์นิเจอร์สีสันแสบตา และปลดภาพวาดของอำพลในชุดนางพญาผีเสื้อแต่งหญิงที่ติดอยู่บนฝาบ้านลงคงไม่เท่าไหร่ แต่เมื่ออำพลถูกขอร้องให้รับบทเป็น “ลุงอำพล” ของลูกชายแทน ก็ทำเอาเขาเจ็บช้ำ และทั้งครอบครัวต้องปั่นป่วนตั้งแต่คนรับใช้ยันสมุห์บัญชี แต่อำพลก็ยอมทำ “เพื่อลูก” ที่เขาเลี้ยงมา

ทีเด็ดของบทละครดัดแปลงฉบับภาษาไทยเรื่องนี้อยู่ที่การนำเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ณ เวลาปัจจุบันมาเล่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง ในเวอร์ชั่น The Birdcage ก็มีการกัดจิกรัฐบาลและประธานาธิบดีไม่น้อยเช่นกัน

นับตั้งแต่บทพ่อของว่าที่เจ้าสาว คุณ “อนุรักษ์” (ธมกร จักราวรวุธ) ซึ่งตามบท ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรค “ไทยรักวัฒนธรรมไทย” และมีภรรยา (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล) ที่มีชื่อตามบทว่า คุณ “ระเบียบจัด”

คุณอนุรักษ์อาจได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เนื่องจากหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันเพิ่งเสียชีวิตไปกะทันหันเพราะล่อลวง “เด็กชายอายุ 14” ไปทำอนาจารในม่านรูดจนตกเป็นข่าวใหญ่โต และทำให้กระทรวงวัฒนธรรมที่คุณอนุรักษ์ดูแลอยู่ต้องมีอันมัวหมอง

ตามท้องเรื่องชื่อคุณ “ระเบียบจัด” หมายถึงใครท่านผู้อ่านก็คงเดาได้

แต่ต้องหมายเหตุตรงนี้ไว้นิดหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ส.ว. ขอนแก่น คุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มแอนตี้เกย์-กะเทยแต่อย่างใด และน่าแปลกมากที่ท่านเป็นผู้หนึ่งในจำนวนส.ว.จำนวนไม่มากนักที่เข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ของเกย์และกะเทยได้ดีและมีใจเปิดกว้าง แม้ท่านจะไม่ค่อยชอบใจการแสดงออกของทาทายัง-ขวัญใจคนหนึ่งของชาวสีรุ้งก็เถอะ

ผมไม่แน่ใจว่า บทพูดบางบทที่ใช้ในละครนั้นมาจากบทภาคภาษาไทยดั้งเดิม หรือนักแสดงมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันต่อเติมบนเวที เพราะมีหลายตอนที่กล่าวพาดพิงถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันได้อย่างเข้าประเด็น และไม่รู้บังเอิญหรือตั้งใจที่คุณศรัญยู ซึ่งประกาศเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทักษินอย่างชัดเจน เป็นผู้ปล่อยมุกแสบๆ คันๆ กัดรัฐบาลด้วยตัวเอง

ต้องเรียกว่า ผู้จัดละครเรื่องนี้กล้าได้กล้าเสียอยู่ไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่า ในโรงละครมีผู้ชมที่กำลังเชียร์ฝ่ายรัฐบาลอยู่สักเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ บทเจ็บๆ ในหลายๆ จังหวะที่พาดพิงสถานการณ์การเมืองอันระอุก็เรียกเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือพอใจได้กระหึ่ม เพียงแต่ผมรู้สึกว่า เสียงกระหึ่มนั้นไม่ได้ดังมาจากคนดูทั่วทั้งโรง มีบางจุดที่นั่งนิ่งเงียบ

ส่วนการผูกโยงเรื่องเพศในละครเรื่องนี้ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน อาจถือได้ว่า เป็นหัวใจหลักของเรื่องทีเดียว อันนี้เรียกเสียงหัวเราะที่ค่อนข้างทั่วถึงทั่วทั้งโรง และมีหลายจุดน่าพูดถึง

เสียดาย ผมไม่ได้ดูหนังดั้งเดิมฉบับฝรั่งเศส แต่ในฉบับอเมริกัน โรบิน วิลเลี่ยมส์ ไม่ได้ออกอาการ “สาวแตก” อย่างกับแฟนของเขาในหนังเรื่อง Birdcage ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวิวาห์คาบาเร่ต์

ตัวบทของยอดนั้นออกจริตทั้งท่าเดิน มือไม้ สายตา และหน้าตาจนผมต้องขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นไปก่อนว่า คงเป็นไปตามบทกระมัง เพราะตัวละครตัวนี้ในละครเรื่องนี้ ก็รับบทเล่นเป็นนางโชว์ในบางคราวที่คลับของตัวเองเหมือนกัน เลยมีจริตไม่ต่างกันเท่าไหร่

หรือว่า เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการบอกอะไรบางอย่าง?

ผมคิดว่า ถ้าผู้ชมมองข้ามจุดนี้ไป ไม่ตะขิดตะขวงที่จะดูคุณตั้วศรัณยู สะบัดสะบิ้งได้ใจขนาดนั้น ก็จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตัวเองในการมองเรื่องเพศได้อีกระดับหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้ว คนทั่วๆไป รวมทั้งเหล่าเกย์เองมักตีกรอบกันว่า ในความสัมพันธ์ของชายรักชาย คนหนึ่งต้องรับทสามี มีมาดผู้ชายเอาไว้ ส่วนอีกคนก็รับบทภรรยา มีความเป็น “เกย์ควีน” ให้เห็นเด่นชัด จะได้กระจ่างแจ้ง เข้าใจกันได้ง่ายทั้งในบ้านและนอกบ้าน

จริงๆ คุณตั้วก็เคยรับบทแต่งหญิงมาแล้วเรื่อง Tootsie ในภาคละครเวทีไทย คนที่เคยดูมาก่อน คงไม่รู้สึกแปลกตา

แต่การที่เราสามารถลดละหรือเลิกตั้งคำถามว่า เกย์สองคนที่ดู “ออกสาว” ทั้งคู่ไม่น่าจะรักกันได้
รวมไปถึง การเลิกหาคำตอบจากประเด็น ดังเช่น มีเพื่อนเกย์ของคุณสองคนที่ดู “สาว” ด้วยกันทั้งคู่ แล้วคนไหนเป็นรุก (สามี) คนไหนรับ (ภรรยา) กันแน่นั้น เมื่อมองข้ามจุดนี้ไป ก็จะช่วยทำให้คุณเลิกเวียนศรีษะ หรือรู้สึกหงุดหงิดยามที่เจอเรื่องทำนองนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ในละครเรื่องนี้ ก็ยังหนีไม่พ้นที่ต้องมีใครบางคนในครอบครัวคนหนึ่งเล่นบท “ภรรยา” ไปและอีกคนต้องเล่นบท “สามี” ตามค่านิยมสังคมครอบครัวสมบูรณ์แบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ใช่ว่า จะเป็นแค่ในละคร ในชีวิตจริงมีหลายคนอยากจะเล่นตามบทบาทเช่นนั้น

ถ้าดูแล้ว ไม่ติดใจตรงนี้ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่หลุดพ้นจากแนวคิดคับแคบที่จำกัดชีวิตมนุษย์ตามกรอบบทบาทชายหญิงที่เป็นการเมืองเรื่องเพศระดับรากเหง้าอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาให้หลายๆ ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สร้างแรงกดดันให้คนเราทุกคนต้องทำอะไรเหมือนๆ กันไปหมดถึงจะเป็นเป็นที่ยอมรับกันในสังคม และเชื่อกันว่า จะมีความสุข และสังคมจะต้องสงบสุขแน่ๆ ถ้าเหมือนซะทั้งหมด

ในบทละครภาคภาษาไทยนี้ มีคำพูดหนึ่งที่สะท้อนมุมมองเรื่องเพศสำหรับทุกครัวเรือนได้ดี และน่าคิดไม่น้อย

ในตอนที่เจ้าของคลับ “คุณยอด” รู้ว่า ลูกชายคนเดียวจะแต่งงาน และรู้ว่าจะแต่งกับลูกของใคร เขาก็อดไม่ได้ที่จะโพล่งออกมาว่า “ทำไมแกต้องไปยุ่งกับคนที่ ‘อยู่คนละโลก’ กับเราอย่างนี้ด้วย?”

น่าจะจริงอย่างที่ว่านะครับ

โลกของครอบครัวคุณยอดและคุณอำพลช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโลกของครอบครัวคุณอนุรักษ์กับคุณระเบียบจัด ไม่แค่ต่างกัน แต่เป็นโลกที่พร้อมจะปะทะเข้าหากันอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดรอยร้าวขึ้นได้นั้น คือมองให้เห็นความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ และพยายามทำความเข้าใจว่า โลกนี้ที่ไม่ได้มีแค่เพศหญิง และเพศชาย และการใช้ชีวิตเป็นคู่ครองกันไม่ได้สงวนไว้สำหรับรักต่างเพศ อีกอย่าง เกย์สองคนเลี้ยงลูกชายมาด้วนกัน ลูกชายถ้าไม่ born to be ยังไงๆ ก็ไม่เป็นเกย์ ต้องให้เครดิตทางด้านความคิดของผู้ประพันธ์ คิดดูสิครับ เขาเขียนเรื่องนี้มาตั้งกี่สิบปีแล้ว

ขณะที่คนอื่นๆ ในบ้านพยายามบังคับปรับเปลี่ยนตัวเอง และพรายามทำตัวตามความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้ผู้ชายทุกคนเป็น “แมน” สมุห์บัญชีในวัยชรา (ญาณี ตราโมท) กลับเพิ่งค้นพบอะไรบางอย่างที่แท้จริงของตัวเอง ส่วนสาวแตกอย่าง เมอร์ซิเดส (ก้อง-ปิยะ) กลับยังต้องการมีลูกต่อไป ทั้งที่มีแล้วเป็นขโยง

ในชีวิตจริงแล้ว คนเราจะต้องปะทะสังสรรค์กับสิ่งมีชีวิตที่แตกต่าง และต่อสู้กับทัศนคติที่มีอคติอยู่ดีทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะอยู่ในในโลกใบไหนอย่างหนีไม่พ้น อยู่ที่ว่า ใครจะยอมรับมันหรือไม่ บางคนอาจพอใจแล้วที่ชีวิตตัวเองไม่ต่างอะไรจากคาบาเร่ต์ที่ต้องแสดงๆ ไป เขาอาจมีความสุขแล้วก็ได้

กำกับการแสดงโดยคุณพรรณศักดิ์ สุขี ยังเล่นอยู่ที่โรงละคร bangkok theatre ที่ Metropolis (ตรงข้ามเซ็นทรัลเวิร์ด, BTS ชิดลม) จนถึงวันที่ 2 เมษายน รายละเอียดติดตามที่ http://www.thaiticketmaster.com/ หรือ 02-262-3456 หรือ 02-713-0801 http://www.dreambox.co.th/

-end-

All rights served.

3 comments:

Anonymous said...

Sawasdee Pee Vit,
Hi Beenamufan, b&w and others,
This is only my opinion(straight) to share with everyone..
1.คนหนึ่งเล่นบท “ภรรยา” ไปและอีกคนต้องเล่นบท “สามี” ตามค่านิยมสังคมครอบครัวสมบูรณ์แบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ใช่ว่า จะเป็นแค่ในละคร ในชีวิตจริงมีหลายคนอยากจะเล่นตามบทบาทเช่นนั้น

2.คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่หลุดพ้นจากแนวคิดคับแคบที่จำกัดชีวิตมนุษย์ตามกรอบบทบาทชายหญิงที่เป็นการเมืองเรื่องเพศระดับรากเหง้าอย่างแท้จริง

3.สร้างแรงกดดันให้คนเราทุกคนต้องทำอะไรเหมือนๆ กันไปหมดถึงจะเป็นเป็นที่ยอมรับกันในสังคม และเชื่อกันว่า จะมีความสุข และสังคมจะต้องสงบสุขแน่ๆ ถ้าเหมือนซะทั้งหมด

--I have(2 sides) but I prefer to present my positive thinking about gay guys...
1. Gay guys are normal people who have a different idea about their lovers.
2. If everything in this world is the same we can not see some different stuff...new vision, knowledge...colourful of this world.....
3. Perhapes, it is an evolution of human being to control the population of the world is not increasing very fast.

“ทำไมแกต้องไปยุ่งกับคนที่ ‘อยู่คนละโลก’ กับเราอย่างนี้ด้วย?”
--For me,I am so tired with this idea cos we are in the same society. But the higher priority you are happy with yourself, aren't you? If yes, don't care the society so much. In my opinion, it is too tough to change the majority people belief so we need more and more educate, campaign etc...In my case,I can accept gay guys whoever they are...

Anonymous said...

สวัสดีค่ะ พี่วิทย์ ยินดีต้อนรับคุณน้ำเข้าสู่บล็อคนะคะ ดีใจจังที่คุณน้ำเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย บอกตามตรง คห.ของคุณน้ำช่วยเปิดโลกทัศน์แคบๆของคนหลายคนได้เลยค่ะ พี่วิทย์วิเคราะห์ได้ละเอียดมากๆ เห็นภาพเลยค่ะ พึ่งรู้ว่าละครเรื่องนี้แอบจิกกัดการเมืองด้วย ไม่เคยดูฉบับที่เป็นหนังเลยค่ะ ส่วนคุณตั้ว วันนี้ดูข่าวมา ไปร่วมขบวนประท้วงกับเค้าด้วยค่ะ อ้อ พี่วิทย์เขียนคำว่า"ขโยง" เขียนผิดนะคะ ที่ถูกคือโขยงค่ะ อีกอย่าง เราส่งเมล์ไปให้นะคะ ตอบด่วน ต้องการคำปรึกษาค่ะ

Anonymous said...

ครั้งนี้เขียนวิเคราะห์ยาวเลยนะครับ

ผมยังไม่มีความเห็น เพราะว่ายังไม่ได้ดู แต่ถ้าเอาความคิดเห็นต่อบทความก็อยากจะบอกว่า ผมเห็นด้วยกับที่พี่บอกว่า "ในชีวิตจริงแล้ว คนเราจะต้องปะทะสังสรรค์กับสิ่งมีชีวิตที่แตกต่าง และต่อสู้กับทัศนคติที่มีอคติอยู่ดีทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะอยู่ในในโลกใบไหนอย่างหนีไม่พ้นอยู่ที่ว่า ใครจะยอมรับมันหรือไม่"

ผมว่า ทัศนคติที่ยิ่งใหญ่และมีผลที่สุดคือ ทัศนคติต่อตัวของเราเอง เพราะหลายๆคนรวมทั้งผม ก็เคยกลัวต่อทัศนคติของตัวเอง และต้องต่อสู้กับทัศนคติของคนอื่นที่ไม่เข้าใจมาอย่างนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะคำถามตอนเด็กๆที่รู้สึกคือ ทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น? แล้วถ้าคนอื่นรู้ว่าเราเป็นเกย์ เราจะเป็นยังไง? : จะโดนรังเกียจมั้ย คนอื่นจะไม่คบเรามั้ยถ้าเขารู้ : สารพัดทีจะคิดและกลัวได้

แต่อีกใจเราก็อยากรู้เรื่องของเกย์ว่าเป็นยังไง คนอื่นจะเป็นเกย์เหมือนเรามั้ย โดยเฉพาะคนที่เราแอบชอบ รู้สึกเหมือนเราหรือป่าว?

นี่แหละชีวิต ที่ต้องค้นหาต่อไป