Sunday, July 16, 2006

คุณรู้สึกยังไงกับคำว่า “อีแอบ” ?

เลิกแอบเสียที / วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์ vitadam2002@yahoo.com 15-16 July 2006

ตอนที่ปิดต้นฉบับประจำสัปดาห์นี้ ผมยังไม่ได้ไปดู “แก๊งชะนีกับอีแอบ” (เข้าวันที่ 13 ก.ค.) ก็เลยอดเขียนพรีวิวให้คุณผู้อ่านเหมือนเรื่องอื่นๆ

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อหนัง ในใจก็มีคำถามตามมาทันที แต่เมื่อได้เห็นชื่อผู้กำกับก็รู้สึกเบาใจไปนิดว่าคงไม่ใช่หนังประเภทเอาเกย์-กะเทยมาเหยียบย่ำ ทำเล่นเป็นตัวตลกปัญญาอ่อน ไร้แก่นสาร ดูโบราณ และไม่สร้างสรรค์

คุณยงยุทธ ทองกองทุน เป็นผู้กำกับที่มีประสบการณ์มาแล้วในการนำเสนอเรื่องแนวนี้ หนังเรื่องสตรีเหล็กทั้งสองภาคของเขาถือได้ว่าช่วยขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับตัวตนของคนที่แตกต่างได้มากขึ้นทีเดียว

แต่ในความแตกต่างก็มีความแตกต่างอย่างอื่นซ้อนทับอยู่ข้างใน

สตรีเหล็กทั้งสองภาคได้ให้น้ำหนักไปที่ตัวละครสาวประเภทสอง และเกย์ออกสาว ซึ่งภาพเหล่านี้เราเห็นอยู่บ่อยๆ และเริ่มชินกัน แต่ที่มองไม่เห็นและยากจะมองออกก็คือ ตัวละครอย่าง “วิทย์” ที่ดูเป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไป (ไม่ใช้คำว่า ชายแท้) และมักจะถูกเข้าใจผิดไปต่างๆ นานาจากคนหลายๆ กลุ่ม แม้ในหมู่มนุษย์สีรุ้งด้วยกันเอง

ในสายตาเกย์ออกสาว หรือที่ใครๆ มักเรียกเหมารวมว่า เกย์ควีน วิทย์จะโดนตั้งคำถามว่า ไม่กล้าแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง แต๋วไม่พอ แลดูธรรมดาจนถึงขั้นน่าเบื่อ และหากเขาไม่ได้ยอมรับตัวเองกับคนอื่นๆ หรือเรียกว่า ไม่ได้เปิดเผยตัวเองแล้วละก็ คงต้องถูกตั้งฉายาไปโดยปริยายว่าเป็น อีแอบ?

ผมไม่แน่ใจว่า คำว่า “อีแอบ” มีความหมายเฉพาะเจาะจงหรือไม่ แต่ความหมายแฝงมีหลากหลาย อย่างเช่น อาจจะหมายถึง ชายเกย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยความรู้สึกส่วนลึกของตนให้ใครๆ รู้ และขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือยอมรับกับใครๆ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า In the closet, closet gay หรือบางครั้งก็ใช้ว่า closet case)

หรืออาจหมายถึง ชายเกย์ที่รู้ตัวเองว่าเป็นเกย์ชัวร์ๆ แต่ยังสร้างภาพลวงๆ ให้ใครๆ เข้าใจผิดคิดไปว่า ตนรักผู้หญิง?

สำหรับผมแล้ว คำๆ นี้ไม่มีผลอะไร เพราะผมได้เลิกแอบมานานแล้ว ทั้งกับเพื่อน กับที่ทำงาน และที่บ้าน ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสดีกว่าคนอื่นๆ ที่พ้นภาวะนั้นไป ตอนนี้ ผมเลยต้องหันไปถามคนอื่นๆ ที่ยังต้องแอบอยู่แทน ผมเลือกบางคนที่อาจจะแอบในบางช่วง บางจังหวะ หรือในบางความสัมพันธ์กับใครบางคน และมีบางคนที่ไม่แอบอีกแล้ว

เสียดายล่ะครับ คนที่แอบจริงๆ นั้น คงตามหามาสอบถามความเห็นไม่ได้ เพราะคนที่ติดต่อพูดคุยกับผมนั้นต้องถือว่า พวกเขาคือคนที่คิดจะเลิกแอบแทบทั้งนั้น ประเภท “แอบร้อยเปอร์เซ็นต์” เห็นจะไม่มี

คุณรู้สึกยังไงกับคำว่า “อีแอบ”?

“นิด” เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัดวัยยี่สิบปลายๆ : เป็นคำที่ negative สำหรับผมมากๆ ผมไม่เคยโดนใครเรียก ถ้าโดน คงโกรธ การเปิดเผย หรือปกปิดเป็นสิทธิส่วนตัวของเรา ผมเป็นคนคิดมาก พวกเพื่อนๆ เลยบอกว่า อย่าไปดูหนังเรื่องนี้

นิดกับผมรู้จักกันมาสองสามปีแล้ว ตอนนี้เขาคบหาอยู่หนุ่มอีกคนหนึ่งและกำลังตกลงใจว่า จะเปิดเผยเรื่องนี้ให้มารดาฟังเสียที แต่ผมก็บอกเขาไปว่า ถ้าตัวเราไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่งบอกเลย

“อั๋น” นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาเป็นที่นับหน้าถือตา ผมเข้าใจว่า คงเป็นเพราะนิสัยที่เป็นกันเองและใจกว้างของเขา “ผมไม่แฮปปี้นะถ้าใครจะเรียกผมว่า อีแอบ ผมรู้สึกเหมือนโดนดูถูก ทำเหมือนเกย์เป็นโจ๊ก ผมคิดว่า คนตั้งชื่อคงมองการตลาดเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ชื่อนี้มีความหมายลบ สงสัยจังว่า ใครเป็นคนคิด”

อืมม์...

“อาร์” นักศึกษาปีสอง มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตอนที่ผมเจออาร์ ผมคิดว่า เขาน่าทึ่งมาก น่าจะจัดประเภทได้ว่า เป็นเกย์ฮิพฮอพ เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด ตอนนี้เข้าเรียนในกรุงเทพฯ “รู้สึกเฉยๆ ครับพี่กับคำๆ นี้ ไม่ได้รู้สึกรังเกียจ ธรรมดามากสำหรับผม เพื่อนๆ ยังไม่มีใครรู้ว่า ผมเป็นเกย์ ผมก็ไม่ได้อึดอัดอะไรนะ อยากไปดูหนังเรื่องนี้ ไม่กลัวที่จะไปดู จะได้ระวังตัวเอาไว้ไง”

ผมลองถามเพื่อนรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง “โอม” เปิดเผยตัวแล้วทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ตอนนี้เป็นผู้จัดการในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง “โหย ตอนนั้นสมัยอยู่ ม. 3 ได้ยินคำๆ นี้แล้วรู้สึกโมโหมาก ไม่ชอบให้ใครมาเรียกเป็น ‘ไอ้’ เป็น ‘อี’ รู้สึกเหมือนดูถูกกัน เวลาได้ยินใครมาเรียกคนอื่นว่า อีแอบ ผมนะอยากจะเข้าไปต่อยหน้ามัน แล้วถามว่า แล้วมันผิดตรงไหน?”

สงสัยน่าจะเป็นเกย์ขาลุย...ผมเลยนึกถึงเพื่อนอีกคนที่ “แรง” พอตัว สมัยเรียนแทบทั้งมหาวิทยาลัยรู้ว่า เขาเป็นอะไร อีกแง่มุมหนึ่ง เขาเปรียบเสมือนความภาคภูมิใจลึกๆ ของผมที่แอบซ่อนไว้ยามที่ได้คบเขา เพราะเขาไม่ปกปิดสิ่งที่รู้สึก ขณะที่ผมแอบสุดฤทธิ์ตอนนั้น แต่ผมกลับไม่รู้สึกอายที่จะเดินไปไหนมาไหนกับเขา เพราะผมชอบรับฟังเขาเล่าวีรกรรมหวาดเสียวที่ไปทำมา

แล้วเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ผมมาพบเขาอีกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาทำเอาผมงงสุดๆ เขากลับไปอยู่ใน “closet” !!! ตอนนี้ “เก็ต” เป็นผู้บริหารระดับกลางของบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ เขาให้ความเห็นว่า “บางทีคนเราก็ต้องแอบ เพื่อตัวเอง เพื่อคนอื่น หรือเพื่อตระกูล คำว่าอีแอบ ฟังดูเหมือนประณามกัน คนเราต้องมีทางเลือก บางคนก็เลือกที่ทำตามใจสังคม เพราะสังคมไม่ตามใจเขา การไปว่าอย่างนั้นจะทำให้คนไม่อยากทำดี สังคมเกิดความขัดแย้ง คิดดูสิ หากโดนกดดันมากๆ ต่อไป คนเหล่านี้ที่โดนกระทำอยากจะช่วยเหลือสังคมไหม? พอแอบก็โดนด่า พอเลิกแอบก็โดนด่า”

คุณผู้อ่านครับ ผมพยายามมองหาคนที่มองแตกต่างแล้วนะครับ แต่ถามไปมา ก็คล้ายกัน อีกท่านหนึ่ง เป็นข้าราชการระดับซี 11 ท่านเริ่มเมลมาคุยเมื่อปีที่แล้ว ตอนนั้นท่านบอกว่า เบื่อที่จะทำตัวหลบๆ ซ่อนๆ อยากหาคนคุยด้วย คงจะรู้สึกดีขึ้น

“คำว่าอีแอบ มีความหมายไม่ดี ฟังดูพิลึก อีกคำที่ไม่ชอบคือ ชะนี ทำไมไปว่าผู้หญิงอย่างนั้น? ผมคิดว่า เป็นคำที่น่าเกลียดพอๆ กัน บางทีคนไทยก็ขาดไปนะ ขาดคำว่า sensitivity”

ครับพี่...(ผมเนี่ยละคน ที่เรียกเพื่อนบางคนว่า ชะนี เพราะพวกหล่อนรู้สึกชอบ)

แล้วคนในเครื่องแบบล่ะ? ผมกดโทรศัพท์ไปหาผู้อ่านท่านหนึ่งที่บอกว่า มีแฟนเป็นตำรวจ ตอนนี้ยศพันตำรวจโท ผมฝากคำถามผ่านเขาไป ก็ได้ความกลับมาคล้ายๆ กัน คือ “พี่เขาบอกผมว่า พอพี่เขาเห็นตัวอย่างหนังในทีวีก็รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา เพราะตัวเองไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะหน่อย”

ผมวางหูโทรศัพท์และยังคงครุ่นคิดต่อไป

สงสัยคงต้องลองไปดู ผมไม่ได้ต่อต้านหนังเรื่องนี้นะครับ และจะไปดูแน่ๆ ใครได้ดูแล้ว เมลมาเล่าความรู้สึกให้ฟังกันบ้างนะ ลองพาเพื่อนผู้หญิง หรือพาคนรู้ใจไปดู คุณอาจจะบอกออกมาได้ว่า ฉันไม่ได้แอบอย่างที่ว่ากัน (www.chanee-eabb.com หรือ www.metrosexual-themovie.com)

-end-

All rights served.

7 comments:

Anonymous said...

ยังไม่ได้ไปดูเลยค่ะพี่วิทย์ ว่าแต่คำว่า "อีแอบ" มันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย

Anonymous said...

ไม่ได้ไปดู และคงไม่ดูครับเพราะอ่านสปอยล์มาจากบางเว็บแล้ว ไม่รู้สึกอยากดูครับ เพราะคิดว่ามันคงไม่ตลก

ผมคิดแค่ว่า ถ้าเขาเปลี่ยนชื่อหนังเป็นแกงค์ชะนีกับพี่แอบ น่าจะประนีประนอมมากขึ้นนะ

เห็นโปสเตอร์ธีดูเกย์ต่างๆนานาที่หนังเขาเอามาโปรโมทแล้วขำ
เพราะมันไม่ใช่เลยน่ะครับ
ใน FHM เล่มใหม่ก็ลงแบบนี้เหมือนกัน

เรื่องแอบ/ไม่แอบเป็นประเด็นที่อ่อนไหวนะครับ ที่สำคัญมันมีบรรยากาศของการ look down เจือปนอยู่สูงมาก ทั้งในแง่ของคำที่ใช้ ... และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนคติ

Anonymous said...

ไปดูมาแล้วครับ ผมว่าในหนังมันแค่ทำมาให้ตลกๆ มันไม่สามารถวัดได้จริงๆ สักหน่อยว่าคนที่เข้าข่ายแบบนี้จะเป็นชัวร์ ผมคนนึงละที่ไม่เข้าข่ายสักข้อเลยในหนัง ตัวผมเฉยๆ กับหนังนะอาจเป็นเพราะตอนนี้ผมเลิกกังวลแล้วว่าใครจะรู้ว่าผมเป็น ความรักมันก็ทำให้อะไรๆ หลายอย่างดีขึ้นนะ แต่ผมว่าหนังเรื่องนี้ทำให้สังคมมองโลกของชายรักชาย แย่ลงไปอีกนะครับ

Anonymous said...

มาแล้วครับสำหรับผม ผู้ติดตามคอลัมน์คนหนึ่ง

"อีแอบ" คำๆ นี้่มันช่างจิกกะโหลกกะลาเสียจริงๆ ถ้าแค่ในความคิดของผมที่จะใช้คำนี้กับคนอื่นๆ ผมคงไม่ใช้อย่างแน่นอน เพราะผมไม่ชอบที่จะเรียกคนอื่น (ที่ไม่สนิท) ด้วยคำขึ้นต้นว่า "ไอ้" หรือ "อี" ผมว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ไม่สุภาพ

แต่หากจะมีคนอื่นๆ กล่าวถึงผมด้วยคำขึ้นต้นประโยคด้วย "ไอ้" หรือ "อี" ผมคงไม่รู้สึกอะไร เพราะตัวผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยคิดมากหรือสนใจเรื่องของคนอื่นมากเกินไป คนที่พูดอย่างนี้ได้ แสดงว่าจิตใจของเค้าคงไม่ได้สูงส่งสมควรที่จะใช้ สรรพนาม ของคนอย่างแน่นอน อีกอย่าง คำๆ นี้เป็นคำที่ใช้ดูถูกคน ผมเป็นคนหนึ่งล่ะครับที่ไม่ชอบดูถูกคน เพราะคนแต่ละคน ก็มีค่าของความเป็นคนเหมือนๆ กัน ทุกคนมีความคิดเหมือนกัน ผมเป็นคนที่เคารพความคิดของคนอื่นเสมอๆ

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าถามผมว่า จะไปดูหรือเปล่า ผมตอบได้เลยว่า ผมไม่ไปดูอย่างแน่นอน ถ้าถามถึงเหตุผล ผมคงจะตอบได้ว่า ผมไม่ชอบดูภาพยนตร์อะไรที่ไร้สาระสักเท่าไหร่ ผมชอบดูภาพยนตร์ที่ดูออกมาจากโรงแล้ว ได้ข้อคิด ได้แง่คิด หรือแม้แต่ได้ภาษา ในเมื่อจะเสียเงินไปเพื่อความบันเทิงหรือพักผ่อนแล้ว ในช่วงของการพักผ่อนของเรา เราก็ควรที่จะได้อะไรกลับมาบ้าง ไม่ใช่ว่าตัวผมเองไม่สนับสนุนหนังไทยของเรานะ แต่หนังไทยบ้านเราก็ควรจะมีการพัฒนาหรือปรับปรุงเนื้อหาสาระให้มันทัดเทียมกับต่างชาติบ้าง ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ ก็คงจะไม่พ้นเรื่องเสียดสีสังคม หรือเหยียดหยามเรื่องเพศ หรืออะไรต่างๆ ที่มันไม่ได้ประโยชน์เอาเสียเลย

จาก : คนที่พร้อมจะเจ็บกับความรัก

Anonymous said...

คิดว่าจะไม่ไปดูหนังเรื่องนี้ค่ะ
ไร้สาระ
เข้าใจว่า มันเป็นความตลกปนความเจ็บปวดของคนอื่นคะ

เข้าใจว่า คนทำหน้ง ทำตามกระแสค่ะ เดี๋ยวนี้อะไรๆ ที่เป็นเกย์ขายดี ขายได้ค่ะ ยกตัวอย่าง วันหนึ่งสาวอิสานรอรักเดินเข้าไปในร้านหนังสือซีเอ็ด แวะไปมุมหนังสือท่องเที่ยว สายตามองไปเห็น "เที่ยวยุโรปอย่างเกย์"
เปิดเข้าไปข้างในประกอบไปด้วยเรื่องทั่วไป แต่เพิ่มตรงส่วน สถานที่ชุมนุมเกย์ และวิธีการไปสถานที่เหล่านั้นเข้าไป

พอแวะไปที่หมวดนิยาย สายตามองไปเห็น "นิยายรักแนวเกย์ เรื่องนั้น เรื่องนี้เต็มไปหมด"

สงสัยปีนี้ คงเป็นปี ของเกย์บลูมมิ่งค่ะ (บลูมมิ่ง แปลว่า "เบ่งบาน" ค่ะ )

คิดไปคิดมาสาวอิสานรอรักว่า คนเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่อง การนิยายรสนิยมทางเพศมากจนเกินไป

เคยครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาส เปิดเข้าไปใน เวบพันทิพย์ อ่านไปเจอ เห็นมีการแบ่ง เกย์ เป็นสีๆ ค่ะ เกย์สีฟ้า เกย์สีเหลือง เกย์สีเทา (อีแอบจัดอยู่ในหมวดนี้) เกย์สีดำ (พวกทหารตำรวจ) สุดท้าย คือ เกย์สีรุ้ง

อีกหน่อยคงมี เกย์หญิง เกย์ชาย เกย์แมน เกย์วูแม่น เกย์เป็ด เกย์ไก่ (gayking gayqueen gayman gaydog gayduck etc.)

คิดไปคิดมา สาวอิสานรอรักว่า วุ่นวายจังเลยคะ
สำหรับสาวอิสานฯ แล้ว คิดว่า โลกเรามันมีอยู่สองเพศค่ะ แบ่งตามสภาพทางชีววิทยาคือ เพศหญิง และเพศชาย

แต่เมื่อมองในมุมของจิตวิทยาแล้ว
ถ้าเพศชาย ชอบ เพศชาย ด้วยกัน ก็เรียกว่า ชายรักชาย

ถ้าเพศหญิง ชอบ เพศหญิง ด้วยกัน ก็เรียกว่า หญิงรักหญิงค่ะ

ส่วนใครจะตุ้งติ้ง ใครจะห้าว ก็แล้วแต่ว่า ถูกเลี้ยงดู หรือ มีระดับ ฮอร์โมนในร่างกาย มากน้อยแค่ไหน

ส่วนอิสานคิดว่า บางที คนเราในสังคม เพี้ยนกันไปใหญ่แล้ว เหตุผลหนึ่ง สาวอิสานฯ คิดว่า

ประการแรก การที่คนเราในสังคมพยายามจัดระเบียบสังคม ว่าฉันเป็นผู้หญิง ฉันเป็นผู้ชาย ฉันเป็นเกย์ ฉันเป็นอีแอบนั้น มันมาจากสัญชาตญาณของการหาพวกของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการอยุ่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่อ่อนแอ

ประการที่สองคือ มนุษย์นั้นมีความเห็นแก่ตัว อยุ่ในตัวเองกันทุกคน และมักจะตัดสินคนอื่น โดยใช้ความคิดของตัวเองเป็น บรรทัดฐานในการวัดค่าความเป็นคน ใครที่คิดไม่เหมือนตนนั้นเป็นพวกนอกรีต อย่างในเรื่อง นี้ ใครที่ไม่ใช่ผู้ชาย แต่ก็ไม่ใช่ผู้หญิง นั้นก็เป็นอีแอบไป (เวรกรรม)

ความจริงสาวอิสานรอรัก อยากจากประนาม คนที่เขียนบทละครนี้ขึ้นมาเสียด้วยซ้ำว่า เอาสมองส่วนไหนเขียนขึ้นมา หรือว่า เพียงแค่ต้องการทำเงินตามกระแสเท่านั้น
คนทำหนังต้องทำอย่างสร้างสรร สิค่ะ เพระมันเป็นสื่อในวงกว้างค่ะ มีคนสอง สามคน ดูกันเสียเมื่อไหร่

หากคนมองออกไปไกลๆ ทำใจให้กว้างๆ ว่า

คนที่คิดไม่เหมือนเรา นั้นมี
คนที่คิดเหมือนเรา นั้นมี
คนที่กินอาหารไม่เหมือนเรา นั้นมี
คนที่กินอาหารเหมือนเรา นั้นมี
คนที่ไม่ชอบเหมือนเรา นั้นมี
คนที่ ชอบเหมือนเรา นั้นมี
คนที่ ดำรงชีวิตอยุ่ ไม่เหมือนเรา นั้นมี
คนที่ ดำรงชีวิตอยู่เหมือนเรา นั้นมี
คนทีมีความรักเหมือนเรานั้นมี
คนที่มี ความรัก ต่างไปจากเรา นั้นมี

ถ้าคิดกันได้แบบนี้ทุกคน ชีวิตคงง่ายขึ้น
อีแอบก็คงไม่ต้องแอบ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปทำร้ายใครอีกคน

ถ้าให้ต้องเลือกว่า จะดู หรือไม่ดู
สาวอิสานรอรัก ขอประกาศอย่างเกรี้ยวกราดว่า ไม่ไปค่ะถึงแม้จะให้ไปดูฟรีก็ตามทีเถิด เพราะสาวอิสานรอรักไม่อยากไปหัวเราบนความเจ็บปวดของคนอื่นค่ะ

ปล. นี่เป็นทัศนคดิส่วนตัวเท่านั้น

Anonymous said...

หวัดดีพี่วิทยา

อยากบอกว่า สาวอิสานรอรัก เขียนโดนใจแท้ๆ อย่างกับอ่านบทความอีกชิ้นหนึ่งเลย

คงไม่มีใครอยากโดนเรียกว่า "อีแอบ" หรอกครับ ผมว่าทุกคนมีสิทธิที่จะบอกหรือไม่บอกคนอื่นว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ยกเว้น หากเป็นเกย์แล้วไปหลอกผู้หญิง มาแต่งงานด้วย อันนี้น่าจะโดนประณามมากกว่าอีกครับ หากใครที่จะอยากอยู่ในโลกส่วนตัวคนเดียว ไม่อยากให้ใครรับรู้ก็ช่างมันเถอะครับ แต่อย่าลักปิดลักเปิดละ แบบนี้ก็ไม่ไหว 55+

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมว่า "อีแอบ" เป็นคำเรียกที่แรงพอดูเลยละครับ

ผมเชื่อว่า หากสังคมเราเข้าใจและมีความอดทนอดกั้นที่จะยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้นกว่านี้ เกย์ที่แอบคงมีน้อยลง เพราะไม่รู้ว่าจะแอบไปทำไม

จริงใหมครับ?

Anonymous said...

รู้สึกเฉยๆ ครับ ถ้าถามว่าชอบมั้ยก็คงไม่ชอบหรอก ใครมั่งหละที่ชอบให้เรียก ไอ้ หรือ อี นำหน้า

ส่วนเรื่องแอบหรือไม่แอบ นี่ก็อีกเรื่อง ใครคิดว่าแอบแล้วตัวเองมีความสุขก็ทำไปเถอะ เพราะบางครั้งคุณเองก็อยากอยู่ในรูปแบบนั้นไม่ใช่เหรอครับ ถ้าคิดว่าแอบแล้วคนรอบข้างสบายใจก็ทำไปเถอะ ไม่ใช่ปากบอกว่าตัวไม่ใช่ แต่ท่าทางการเดินเหิน กิริยาที่พูด มันออกจะแจ่มแจ้งซะขนาดนั้น ก็อย่าทำเลยนะ เสียเครดิตหมด

ส่วนใครที่รู้สึกว่าอึดอัดในเรื่องการแอบ อยากออกมาเปิดเผย ก็จงทำซะ อย่าให้อยู่ในใจนาน เดี๋ยวจะอกแตกตาย ทำไปเหอะ ใครจะรักจะเกลียด ก็ช่าง รักตัวเองและครอบครัว เท่านั้นก็พอ ไอ้อีหน้าไหน มันว่ามา ก็ถามมันกลับไปซะ ว่าเป็นแบบนี้ แล้วมันหนักหัวใครตรงไหนไม่ทราบ ขอโทษครับที่เขียนแรง แต่บางครั้งคนเราก็คงจะมานั่งตอบแบบเรียบร้อยก็คงไม่ได้หรอกนะครับ นานาจิตตัง