Sunday, April 30, 2006

Rainbow Media Awards : สื่อสร้างสรรค์แห่งปี



เลิกแอบเสียที /วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการวันเสาร์ vitadam2002@yahoo.com

29-30 April 2006

มีคนชอบถาม : ทำไมระยะหลังมานี้ บ้านเรามีเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์-กะเทยเยอะจัง? เพราะมีคนเป็นเกย์เยอะขึ้นเหรอ?

คุณเองก็คงได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ ซึ่งผมมักจะเลือกที่จะตอบว่า จริงๆ คนเป็นเกย์ในบ้านเมืองไหนๆ ก็มีเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่คุณมองไม่เห็น หรือ “รู้จักน้อยเกินไป” เท่านั้นเอง ยังมีมนุษย์สายรุ้งอีกมากมายที่ยังต้องหลบซ่อนตัวอยู่ คนใกล้ๆ ตัวคุณเองก็...นะ

โลกเราหมุนเร็วขึ้นเพราะสื่อสารสมัยใหม่ โดยเฉพาะเว็บไซต์และอีเมล คนที่เพิ่งยอมรับตัวเองได้มาพบกับคนอื่นๆ ที่รู้สึกเหมือนๆ กันได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เกย์ที่เชียงรายก็มีสิทธิ์รู้จักกับเกย์ที่ยะลา แล้วก็มาฮากันที่กรุงเทพฯ เมื่อพวกเขาได้พบกัน เลยรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองรู้สึกอยู่ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ และยังมีคนอื่นอีกมากมายที่รู้สึกไม่ต่างกัน

พอถึงเวลาหนึ่ง เมื่อเริ่มสบายใจมากขึ้น ความกลัวน้อยลงไป เขาก็อยากจะบอกคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนใกล้ชิด เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่ายในการคบหา

แล้วคนทั่วไปที่ได้เห็นพวกเขาตัวเป็นๆ ก็ได้ตาสว่างเสียทีว่า ตัวเองก็มีญาติ หรือมีเพื่อนเป็นเกย์กะเขาด้วยเหมือนกัน ความสนใจเกี่ยวกับเกย์เพื่อจะสร้างความเข้าใจเหล่านี้เองได้สะท้อนออกมาตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในปี 2548 เรียกได้ว่า เป็นปีทองเกี่ยวกับเกย์เลยก็ได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 เม.ษ. ผ่านมา ได้มีรายการมอบรางวัลประจำปี ชื่อว่า Rainbow Media Awards หรือรางวัลสื่อสร้างสรรค์สีรุ้ง ประจำปี 2548 ที่ “Chicago” ผับและร้านอาหาร ถนนวิภาวดีรังสิต จัดโดยองค์กรพันธมิตรต่างๆ ในวงการสีรุ้ง (ป.ล. หนังเรื่องเรนโบว์บอยส์ ที่ผมร่วมเป็นโปรดิวเซอร์คนหนึ่งก็ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ แต่ขอละไว้ ไม่พูดถึง เพราะเคยเขียนเป็นความในใจไปแล้วหนหนึ่ง)

ตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปี 2548 หากคุณสังเกตดู สื่อในบ้านเรามีเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์ออกมามากมายในแทบทุกแขนง

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตมาตลอดก็คือ เนื้อหา การนำเสนอ มุมมอง และทัศนคติของสื่อเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวผลักดันให้มี “ภาพบวก” มาคานน้ำหนักกับ “ภาพลบ” ที่มีมานานจนผู้อ่าน-ผู้ชมจะเกิดความคิดใหม่ๆ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ

ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดคงไม่พ้นเรื่องการใช้ภาษา

เมื่อก่อน สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์มีคำให้ใช้ได้เพียงไม่กี่คำ เช่น รักร่วมเพศ ไม้ป่าเดียวกัน ตุ๊ด แต๋ว ประเทือง นะยะ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมามีคำอื่นๆ ให้เป็นทางเลือกมากขึ้น ซึ่งคำเหล่านี้ช่วยลดทอนความรู้สึกลบๆ ลงได้ไม่น้อย เช่น รักเพศเดียวกัน กลุ่มหลายหลายทางเพศ หญิงรักหญิง ชายรักชาย

อย่างเรื่องคุณฟิล์ม-คุณอู๊ด ไม่รู้ว่า สื่อเก้อเขินหรืออย่างไร จึงไม่อยากพูดคำว่าเกย์ออกมา ผมพบว่า หลายๆ แห่งใช้คำว่า ชายรักชายแทน แต่จริงๆ แล้ว หากนักข่าวจะถามว่า คุณฟิล์มเป็นเกย์หรือเปล่า? ก็ไม่เห็นจะน่าเสียหาย ก็ในเมื่อเป็นเกย์ไม่ได้ผิดกฎหมายและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เอาเป็นว่า คุณฟิล์มก็ตอบไปแล้วนะครับว่า เขา “แมน 100%” คงทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะสาวๆโล่งอกเป็นแถว แต่ประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่า “ลืมบุญคุณ” นี่สิ เป็นเรื่องน่าร้อนมากกว่า

ความเปลี่ยนแปลงในสื่ออีกประการหนึ่งก็คือ มุมมองความคิด ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง “เลือดต่างสี” (บริษัททีวีซีน ทางช่อง 3) ที่นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีลูกเป็นเกย์ ย่อมเป็นปัญหา และความไม่เข้าใจสำหรับพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในที่สุดพ่อก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามเข้าใจ ถ้าเป็นในอดีต ไม่ใครก็ใคร คงต้องตายจากไปอย่างหวาดเสียว

คนที่ชื่นชอบรายการสารคดีชีวิตอย่าง คนค้นคน (บริษัททีวีบูรพา ทางช่อง 9) คงยังประทับใจตอน “คนต่างลิขิต” ที่นำเสนอเรื่อง กะเทยแบกข้าวสารกับกะเทยนางโชว์ ผู้จัดบอกในงานว่า ไม่ได้นำเสนอภาพชีวิตรันทดเพื่อเรียกน้ำตาคนดู แต่นำชีวิตคน “ต่างวิถี” มาเล่าให้ฟัง แล้วเราก็เห็นได้ว่า คนเราต่างกัน และต่างคนก็มีความสุขตามอัตภาพของตนได้เช่นกัน

ในแวดวงธุรกิจ ก็เริ่มสนใจแวดวงชายรักชายจนทำให้ นิตยสารไซส์ยักษ์และขึ้นชื่อว่า ทำงานได้ละเอียดในแทบทุกประเด็นอย่าง “Positioning” ต้องมาเจาะลึกเรื่องราวเหล่านี้เสียที ผมคิดว่า เป็นครั้งแรกเลยที่ผมเห็นนิตยสารไทยถ่ายภาพคนเป็นเกย์กว่า 10 คน ในอิริยาบถต่างๆ และสัมภาษณ์คนเหล่านั้นถึงการใช้ชีวิต ความคิดในการจับจ่าย เพื่อให้นักการตลาดเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีศักยภาพในลัทธิบริโภคนิยมเช่นไร

นิตยสารอีกฉบับที่ได้รับรางวัล คือ GM ในปีที่แล้วเช่นกัน ตอนที่ GM ให้โอกาสผมพูดในฐานะคนเขียนคอลัมน์เกย์และไม่ได้ปิดบังตัวเองใน Metro Life เล่มนี้ ผมไม่รู้หรอกว่า เขาจะไปนำเสนออย่างไร

สัมภาษณ์ไปหนึ่งรอบก็ผ่านพ้นไป แต่ต่อมา ทางกองบก. ก็มาคุยเพิ่มเติมและบอกว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ยาวประจำฉบับ ผมรู้สึกดีใจนะครับ ไม่ใช่ดีใจที่จะมีคนจะรู้จักงานที่ตัวเองทำมากขึ้น แต่ดีใจที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องเกย์ และรู้ว่า มีเกย์อ่าน GM ไม่น้อย และต่อมายังเปิดพื้นที่ให้ผมเขียนคอลัมน์ในนั้นอีก

บอกได้เลยว่า GM ฉบับนั้นต้องใช้ความกล้าหาญมาก มากกว่าบรรดาสื่อกระแสหลักทั้งหมดเพราะกองบก. นำตัวอักษร G จากหัวหนังสือ “GM” มาเล่นกับคำว่า GAY ได้อย่างไม่ต้องกลัวเกรง Advertisers จะผวา ผมไม่รู้ว่า ยอดขายฉบับนั้นเป็นเท่าไหร่ รู้แต่ว่า มีคนตามซื้อเก็บไว้หลายคน Gay Issue ฉบับนั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งไปแล้วในวงการนิตยสารของไทย และในงานวันอาทิตย์ คุณโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการก็อุตส่าห์สละเวลามาร่วมงานมอบรางวัลด้วยตัวเอง

ช่วงปีที่แล้ว ครั้งที่ห้างแว่นตาชื่อดัง นำเสนอภาพไม่เจริญหูเจริญตาของกะเทยมีหนวดทำท่าล่อลวงผู้ชายด้วยนาฬิกาในห้องน้ำจนถูกทำร้ายร่างกายนั้น มีหลายคนเห็นขำๆ แต่หากมองลึกๆ แล้ว โฆษณาชิ้นนี้ ไม่เพียงนำเสนอเรื่องความรุนแรง แต่ยังหยิบทัศนคติความคิดแง่ลบ (negative stereotypes) มาเป็นจุดขายโดยอาศัยอารมณ์ขันมากลบเกลื่อน ส่วนที่เป็น “Subtext” หรือข้อมูลที่เรารับไปโดยไม่รู้ตัวก็คือ กะเทยหน้าตาอุบาทว์ปานนั้นสมควรแล้วจะถูกชกและถูกชัง โฆษณาชิ้นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการขายความเกลียดให้สังคม

หนังสือพิมพ์ข่าวสดเป็นอีกสื่อหนึ่งที่มองเห็นประเด็นขัดแย้งนี้ และนำเสนอความคืบหน้ามาตลอด บริษัทโฆษณาแห่งนั้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกค้า ได้ชี้แจงผ่านจดหมายแสดงความเสียใจ แต่หารู้ไม่ว่า คนที่ไม่ชอบโฆษณาอย่างนั้น ทั้งเกย์และไม่เกย์เอง ก็รู้สึกไม่ชอบสินค้ายี่ห้อนั้นไปแล้ว เรื่องนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาอีกเรื่องหนึ่งว่า คนทำโฆษณาที่มีความยาวไม่กี่วินาทีต้องมีความรับผิดชอบมาก เพราะสื่อที่ทำออกไป มีผลกระทบต่อคนในวงกว้างและรวดเร็ว

นอกจากนี้ข่าวสดยังเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องวีซีดีเรื่องมีสควีนที่เสนอภาพกะเทยถูกใช้ไถนาแทนควาย จนผู้กำกับแสดงความรับผิดชอบออกมากล่าวขอโทษอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในส่วน Excite Thaipost ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ได้รับรางวัล เพราะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์ได้อย่างรอบด้านและสม่ำเสมอโดยเฉพาะการหยิบประเด็นเรื่องการเกณฑ์ทหารมาชี้แจง จนกระทรวงกลาโหมเห็นว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนกันแล้ว

เสียดายครับที่ในงานมอบรางวัล ผู้รับรางวัลท่านหนึ่ง คือ คุณหมอสุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 และทำรายการชูรักชูรส ไม่สามารถมารับรางวัลได้เพราะติดภารกิจต่างจังหวัด

ผมรู้จักคุณหมอพอสมควร แรกๆ ก็คิดว่า เป็นชาวสีรุ้งเหมือนๆกันนี่แหละ แต่ยิ่งรู้ว่า ไม่ใช่ ก็ยิ่งทวีความน่าสนใจนะครับ เพราะคุณหมออาสาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ช่วยลบล้างทัศนคติเก๋ากึ้กและผิดๆ ว่า เป็นเกย์รักษาได้ และยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชี้แจงให้รู้ว่า เป็นเกย์เป็นเรื่องธรรมดา แม้คุณหมอจะถูกมองว่า เป็นเกย์ด้วยอีกคน แต่ในเมื่อคนเราไม่ใช่ ก็ไม่เห็นคุณหมอจะกังวลใจอะไร

การจัดมองรางวัล Rainbow Media Awards เป็นเพียงแรงสนับสนุนเล็กๆ ที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันจะแสดงความขอบคุณให้กับคนทำสื่อ หากคุณผู้อ่านเชื่อเรื่องอำนาจทำลายล้างและสร้างสรรค์ของสื่อแล้ว จะเข้าใจว่า เราจะไปบังคับไม่ให้มีข่าว อาจารย์เกย์วัยดึกโดนฆ่า ทอมรักคุดโดดตึก หรือกะเทยต้มตุ๋น ฯลฯ ก็ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ นำภาพที่ดีออกมาสร้างความสมดุลเพื่อให้ประชาชนมีทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้นต่างหาก และการที่จะมีภาพที่ดีได้นั้น ผู้คนต้องการที่จะมองเห็น ดังนั้นการพูดความจริงว่า ฉันเป็นใคร จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเป็นสื่อสร้างสรรค์เลย

บอกต่อกันไป :Basic Instinct 2 ยังคงมีประเด็นหญิงรักหญิงของแม่สาวชารอน สโตนเหมือนภาคแรก ที่น่าสนใจอีกก็คือพระเอกหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษ แม้จะอายุไม่น้อย ก็รักษาหุ่นได้ไม่เลว แต่ยังไงๆ ก็ยังอดคิดถึงบั้นท้ายไมเคิล ดักลาสไม่ได้ซักที / คนรักภาษาพลาดไม่ได้ งานสัมมนาทางด้านภาษาครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย “1st World Congress on the Power of Language” 22-25 พ.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ นักศึกษาเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก ดูรายละเอียด www.poweroflanguage.org หรือโทร 02-661-6720

ผู้ได้รับรางวัล Rainbw Media Awards 2005
1. ประเภทสื่อบุคคลยอดเยี่ยม
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล - จิตแพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2, รายการชูรักชูรส, ผู้บรรยาย
2. ประเภทสื่อรายการโทรทัศน์และการแสดงยอดเยี่ยม
รายการ “คน ค้น คน” ตอน “คนต่างลิขิต” บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ทาง ช่อง 9 อสมท. Modern Nine TV และละครเรื่อง “เลือดสามสี” บริษัท ทีวีซีน จำกัด ทางไทยทีวีสีช่อง 3
3. ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ยอดเยี่ยม
หนังสือพิมพ์ ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์
4. ประเภทสื่อนิตยสารยอดเยี่ยม
นิตยสาร Positioning และนิตยสาร GM
5. ประเภทสื่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
Rainbow Boys THE MOVIE บริษัท ไซเบอร์ฟิช มีเดีย จำกัด
คณะผู้จัด :Bangkok Pride Coalition, กลุ่มสวิง (Service Workers In Group), องค์กรบางกอกเรนโบว์ และ LONG YANG CLUB THAILAND

-end-
All rights served.

4 comments:

Anonymous said...

ดีใจด้วยนะคะ พี่วิทย์ ที่ได้รางวัล สอบเสร็จแล้ว กลับมาเม้าท์กะพี่วิทย์ได้เหมือนเดิม แล้วจะส่งเมล์ไปคุยด้วยนะคะ

Anonymous said...

Sawasdee P'Vit,
Hi beemanufan, its, b&w, Mr.novotny, Libertine and others,
คนเป็นเกย์ในบ้านเมืองไหนๆ ก็มีเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่คุณมองไม่เห็น หรือ “รู้จักน้อยเกินไป” เท่านั้นเอง ยังมีมนุษย์สายรุ้งอีกมากมายที่ยังต้องหลบซ่อนตัวอยู่ คนใกล้ๆ ตัว...I totally agree with this idea....A lot of gay guys in Thai society but most ppl don't understand that some gay guys may not show some character like woman but they are gay guys...

สิ่งที่ตัวเองรู้สึกอยู่ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ และยังมีคนอื่นอีกมากมายที่รู้สึกไม่ต่างกัน...yes, that's right!!!!!!
นำเสนอเรื่องความรุนแรง แต่ยังหยิบทัศนคติความคิดแง่ลบ (negative stereotypes) มาเป็นจุดขายโดยอาศัยอารมณ์ขันมากลบเกลื่อน ..I don't agree with this idea cos they try to lead more misunderstood and negative thinking of others

นำภาพที่ดีออกมาสร้างความสมดุลเพื่อให้ประชาชนมีทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้น ..support this idea ..They are normal !!!..

Anonymous said...

บราโว่ววววววววววว

ตอนแรกผมกะจะแว้ปๆไป observ แต่กลัวจะเข้างานไม่ได้ เลยไม่ไปดีกว่า

ผมว่างานมอบรางวัลนี้ก็จุดกระแสให้สังคมได้เยอะเหมือนกัน

ปล.เสียดาย อ.วิโรจน์ ไม่ได้เป็น ส.ว.เลยขาดคนผลักดันเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องคนรักเพศเดียวกัน

เฮ้อ เศร้าใจ

Anonymous said...

Hi >>> Ya ^__^
ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นและขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลอันมีค่านี้ทุกท่านจากใจครับ

[แอบไป create Blog มาเพราะอิจฉาคนที่เขามีบ้านอยู่กัน... ว่าง ๆ ก็แวะไปทักทายกันนะครับ]