เลิกแอบเสียที / วิทยา แสงอรุณ Metro Life นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์ vitadam2002@yahoo.com
ในแต่ละสัปดาห์ มีหลายๆ เรื่องที่ผมอยากจะเขียนๆๆๆ ซึ่งตามหลักการที่ดี คอลัมน์ประจำควรพูดถึงเหตุการณ์สำคัญที่คนสนใจในช่วงเวลานั้นๆ และเลือกเพียงเรื่องเดียว
ผมมีสามหัวข้อใหญ่ที่เลือกแล้วให้คิด เกือบทั้งอาทิตย์ก็นั่งคิด ถ้าให้เลือกเลย ก็ต้องพูดถึงเรื่องที่ผู้คนสนใจมากสุดเพราะผมอยากให้คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ดี ไม่ยอมตก “เทร็นด์” ร๊อก?
งานพระราชพิธีฯ ก็เสร็จสิ้นไปแล้วอย่างเป็นทางการ เปิดทีวี เปิดหนังสือพิมพ์ เปิดเว็บ ไปที่ทำงาน เกือบทุกๆ คนก็จะพูดเรื่องบอลๆๆๆๆ ผมต้องโดนตำหนิแน่ๆ ถ้าไม่หยิบเรื่องบอลมาเขียนกะเขาด้วย แถมวันก่อนไปเดินตรวจตลาด แถวสีลม เกือบทุกร้านก็เปิดบอลดูกัน เลยเหมาเอาว่า คุณผู้อ่าน ทั้งชายหญิง เกย์ ทอม ดี้ เลสฯ และอื่นๆ คงต้องดูบอลกันแน่ๆ เลย
เริ่มเรื่องละกัน
ครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลกับผมต้องมาเกี่ยวกัน ก็ตอนเรียนพละสมัยมัธยมหก ตอนนั้น เตะบอลก็สนุกดี ได้วิ่ง ได้ออกกำลังกาย แต่มันเหนื่อยจัง จะหายเหนื่อยก็ตอนแอบมองพวกนักเตะ (ตัวจริง) ถอดเสื้อออกมานั่นแหละ
ห้องเรียนผมมีนักเตะประจำที่สร้างชื่อให้โรงเรียนหลายคน และต้องบอกว่า พวกมันทุกคน หล่อกันหมด แต่เรียนไม่ได้เรื่องซักคน คงเหมือนคุณเดวิดมั้ง?
ถึงจะเรียนไม่เก่ง โดดเป็นประจำ แต่พวกนี้ก็นิสัยดี มีอารมณ์ขัน และหุ่นดีเป็นบ้า น่าเสียดาย คุณครูพละของผมไม่หล่อ ผมเลยขาดแรงจูงใจที่จะเอาดีทางนี้ (หมายถึง เตะบอลน่ะครับ ไม่ใช่หัดถ้ำมอง)
เอาล่ะครับ จบเรื่องบอล...โล่งอก ผมทำหน้าที่แล้วนะ
คุณผู้อ่านครับ คอลัมน์ที่ดีต้องพูดถึงเรื่องที่ผู้คนสนใจกัน
เมื่อวันศุกร์โน้น ผมกับทีมรายการฮอตไลน์ฯ ได้สัมภาษณ์ คุณแอม อารยา อริยะวัฒนา นางเอกคนสวยของหนังไทยเรื่อง “เพลงสุดท้าย” (เริ่มฉายแล้วเมื่อวันพฤหัสที่ 15 มิ.ย.)
คอลัมน์นี้ปิดล่วงหน้า ผมเลยยังไม่ได้ดู แต่เอาเถอะ ผมเคยดูภาคที่แล้ว ผู้กำกับก็คนเดียวกัน ฉายเมื่อปี 2528 ตอนนั้นผมอยู่ม. 6
สมัยนั้น ใครไม่รู้จักชื่อ “สมหญิง ดาวราย” และเพลง “เพลงสุดท้าย” ที่คุณสุดา ชื่นบานร้องไว้ คงตกเทร็นด์เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าคุณเกิดไปถามนักฟุตบอล แล้วเขาบอกไม่รู้จักสมหญิง ดาวราย ทำหน้าเชิ่ดใส่ได้เลยเพลงสุดท้าย เป็นหนังเศร้าเล่าชีวิตสาวประเภทสองที่ผิดหวังในรักจนผู้คนซาบซึ้งกันทั่วบ้านทั่วเมือง กลายเป็นหนังคลาสสิคไปแล้วล่ะครับราวๆ กับเรื่อง “Madam Butterfly” ถึงเศร้าและหดหู่ แต่ก็น่าจะมีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น
ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ผู้กำกับบอกว่า สังคมเปลี่ยนไป แต่เรื่องความรัก ความผิดหวังยังคงมีอยู่ แต่อย่างน้อยสังคมก็เข้าใจคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ (TG) หรือสาวประเภทสองมากขึ้นกว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ทางผู้สร้างต้องการทำหนังเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ และเชิดชูเกียรติยศศักดิ์ศรีของเหล่าทีจี ไม่ได้เอาพวกเธอมาทำตลกในมิติเดียว
เนื้อเรื่อง ฉาก นางโชว์ เสื้อผ้า และบทบาทการแสดงของเหล่านักแสดงมือฉมังอย่าง คุณนิรุตติ์ ศิริจรรยา คุณสรพงษ์ ชาตรี หรือคุณนพพล โกมารชุน เป็นอย่างไรไปติดตามกันเอง ตอนนี้ผมสนใจแต่ว่า ที่บ้านน้องแอม รู้สึกอย่างไรที่เธอไม่ใช่ผู้ชาย
เธอเล่าว่า ที่บ้านเคยมีลูกชายสองคน ตอนนี้มีลูกชายหนึ่ง และลูกสาวหนึ่ง พี่ชายที่อายุห่างกันมาก เป็นห่วงน้องเอามากๆ
“บ้านอยู่เพชรบุรีค่ะ แต่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนอายุสามเดือน พี่ชายแอม อายุมากกว่า 5 ปี พี่ชายเกลียดกะเทยสุด ที่บ้านเลยทำทุกอย่างครบสูตรสมบูรณ์แบบเหมือนในหนังคือ พยายามทำให้เราเป็นผู้ชาย ให้เราเรียนนายร้อย พ่อแม่อยากให้เรียนโรงเรียนชายล้วน กลับยิ่งทำให้เรารู้อะไรที่ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ใช่แบบนี้ เราเป็นอีกแบบหนึ่ง”
สัมภาษณ์มาถึงตอนนี้คุณผู้ฟังทางเว็บต่างพากันบอกมาทางเอ็มเอสเอ็นว่า น้องแอมเสียงเหมือนผู้หญิงเลย ก็จะขอบอกท่านผู้อ่านและท่านผู้ฟังว่า เทคโนฯ สมัยนี้ก้าวหน้ามากโดยเฉพาะที่โรงพยาบาลยันฮี หลอดเสียงก็ทำได้ ส่วนลำคอ ก็แทบจะไม่เห็นกระเดือกของเธอเลย เธอเพิ่งผ่าตัดมาหลังเล่นหนังเรื่องนี้จบ โดยลักษณะส่วนตัวแล้ว น้องแอมมีกิริยาเรียบร้อยเหมือนหญิงสาวรางวัลมารยามงาม แถมหน้าตายิ้มแย้มต้อนรับ เป็นสาวอารมณ์ดีที่มีเสน่ห์
เธอเล่าต่อว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งวิธีการที่เธอทำให้ที่บ้านและญาติๆ ยอมรับตัวเธอนั้น น่าสนใจไม่น้อย
“นิสัยเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ทางบ้านคิดว่า ลูกของเราช่างพูดช่างคุย เป็นนิสัยของลูก ลึกๆ แล้วท่านก็รู้ว่า เราคืออะไร คือตัวเราต้องให้รอบข้างยอมรับเราก่อน บางคน (เพื่อนกะเทยบางคน) เห็นเพื่อนๆ (กะเทย) ที่มีพ่อแม่รับได้หมดแล้ว ก็เลยบอกออกไปเลย เดี๋ยวเขาก็ช็อคกันไปหมด”
สัมภาษณ์ถึงตอนนี้ น้องแอมแทบจะครองไมโครโฟนคนเดียว ทางเราเลยปล่อยให้เธอร่ายต่อยาวเลย
“เราก็ต้องทำตัวเราให้ดีด้วย ที่บ้านเป็นข้าราชการต่างจังหวัด คนรู้จักกันทั้งตำบลทั้งอำเภอ จะอายคนรอบข้างไหม? แล้วก็ยอมรับได้ไหม? เขาห่วง หนูเลยไม่เคยให้พ่อแม่เห็นเพื่อนกะเทยเลย แต่หนูจะเล่า ‘ความดี’ ของเพื่อนกะเทยให้พ่อแม่ฟัง ใช้วิธี ‘ป่าล้อมเมือง’ ค่ะ คือ คุยกับคุณตา คุณยาย คุณน้า คุณอา ให้ท่านๆ อยู่ข้างเรา ทำให้ท่านยอมรับ พ่อแม่มักกลัวที่สุดว่า สังคมจะรังเกียจลูกเค้า สังคมจะรังเกียจเค้า เลยต้องให้ผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่คุยกัน พ่อแม่เลยยอมรับได้”
นอกจากจะใช้วิธีป่าล้อมเมือง หรือ “ยืมปากชาวบ้าน” ซึ่งได้ผลดีแล้ว เธอก็ต้องลงมือทำให้เห็นและสอดประสานกันไปด้วยนะ ถ้าเป็นแนวบริหารธุรกิจต้องเรียกว่า alignment คือให้ทุกส่วนสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป
“สำหรับสาวประเภทสอง การเปลี่ยนแปลงตัวเองจะเด่นชัด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะต่างจากเกย์หรือไม่ เพราะพ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด เวลามากรุงเทพฯ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ทางที่บ้านกรุงเทพฯ ก็จะโทรไปบอกความเปลี่ยนแปลงของเรา ส่วนหนูจะค่อยๆ ทำไป อย่างเมื่อก่อนใส่เสื้อตัวใหญ่ ไซท์จะค่อยๆ หด เหมือนซักแล้วหด (หัวเราะ) กางเกงก็ค่อยๆ สั้น อย่างจะใส่กระโปรง ไม่ใช่มีแล้ว ก็ใส่เลยนะ ซื้อแล้วเอามาวางไว้ก่อน ให้เขาเห็นนะว่า เรามีกระโปรงแล้วนะ อีกสองสามวันแล้วค่อยใส่ ค่อยๆ ฉีดยาให้ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้แนะนำให้ใครทำตาม แต่กำลังบอกวิธีที่ยืดหยุ่นที่สุดถ้าคุณคิดดีแล้ว”
เล่าไปก็ยิ้ม ผมเคยเจอเธอก่อนหน้านี้สองสามหนล่ะครับ เป็นยังไงก็เป็นยังงั้น เป็นคนพูดตรงๆ
“ใช้เวลานาน 3 ปีในการเปลี่ยนกว่าจะมาถึงตรงนี้ หนูอาจจะโชคดี หนูไม่ได้กลับบ้านมาปีหนึ่ง พ่อแม่เห็นหนู แต่ญาติไม่เห็นหนู เขาบอกกันว่า ได้ข่าวว่า ลูกเราเป็นกะเทย คนต่างจังหวัดนะคะ จะคิดว่า กะเทยเหมือนเกย์ คือผู้ชายที่ตุ้งติ้ง แต่พอเราไปปรากฏตัว เขาก็ อุ๊ย! ลูกสาวบ้านไหนละเนี่ย เขาจะอีกฟีลหนึ่ง ลูกสาวดูโอเค กิริยามารยาม ก็โอเค เอาใจผู้ใหญ่โอเค ไม่เห็นเสียหายเลย เป็นกะเทยไปเถอะ
“ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่า สวยแล้วจะใส่เสื้อสายเดี่ยวไปนะคะ แต่งตัวธรรมดานี่แหละ เขารู้อยู่แล้วว่า เราเป็นอะไร เราไม่ต้องแสดงออกหรอกว่า เราเป็นอะไร เราไปแบบเรียบร้อยก็ได้ ตรงกันข้าม ถ้าเรายิ่งแสดงออก เขายิ่งต่อต้าน”
ใกล้จบรายการแล้ว เกือบเลยเที่ยงคืนแล้ว น้องเลยแอมขอตัวไปเฝ้าเพื่อนที่เพิ่งผ่าที่โรงพยาบาลต่อ ฟังเธอพูดซะเพลิน เลยลืมถามไปว่า เธอดูบอลหรือเปล่า?
บอกต่อกันไป : อัมบั้ม Sleeper 1 / Difference ของค่ายสนามหลวง เครือแกรมมี่ มีเพลงเด็ด เปิดไปเพลงที่ 7 เพลงอื่นๆ ก็เพราะกินใจ สะสมด่วน ถ้ามัวซื้อแผ่นปลอม จะอดรู้อะไรดีๆ ลองดูปกอัลบั้มด้านในนะ / หญิงรักหญิงที่พลาดเรื่อง Saving Face จากในโรงหนัง ตอนนี้ ออกเป็นวีซีดีอย่างเป็นทางการแล้ว
All rights served.
5 comments:
Update เรื่อง Metro Life ตามแผงหนังสือ
ทางกองบก. นสพ. ผจก. ฉบับวันเสาร์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่น่ะครับ ใครๆ ก็ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่รู้จะดีหรือเปล่า... ล่าสุดที่ถามไป เขาบอกว่า Metro Life (ที่คอลัมน์นี้ประจำอยู่) จะส่งให้สำหรับสมาชิกนสพ. ส่วนตามแผงหนังสือจะไม่มี Metro Life เหมือนเคย ผมหวังว่า เขาคงจะเปลี่ยนใจเรื่องนี้ เพราะหลาย ๆ ท่านจะชอบสะสม Metro Life ไว้ และไม่ได้เป็นสมาชิกนสพ.ยังไงเสีย blog นี้ก็ยังคงอัพเดทต่อไปนะครับ ฝากบอกต่อๆ กันไปด้วย tks++
อืม สาวอิสานรอรัก เข้ามาเป็นคนแรก หรือ คะ เนี่ย
ยินดีคะ อ่านจบแล้วก็เข้ามาคอมเมนต์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ได้ "แอบ" ย่างกรายเข้าไปในสวนแห่งตัวอักษร เจ้าเล่ห์ นั้นแล้ว อ่านไปตั้งนาน เรื่องบอลมาโผล่ตอนสุดท้ายนะคะ
เพลงสุดท้าย สาวอิสานรอรัก เคยดูเหมือนกับคุณวิทยาค่ะ ตอนนั้นคุณวิทยา อยู่ ม.6 สาวอิสานรอรักคงอยู่ ม.1
หนังเรื่องนี้จบเศร้า ตายคาเวที ดูแล้วก็ตั้งคำถามว่า
"ทำไม มนุษย์ เราจึงปล่อยให้ อารมณ์ เป็นนายความคิด หรือ พูดให้สวย ก็คือ ทำไม มนุษย์ เรายอมตกเป็นทาสของอารมณ์"
"ฆ่าตัวตายทำไม ไม่คิดหรือว่า ต่อไป อาจจะได้เจอใครสักคนที่ดีกว่า หรือ ถ้าไม่เจอใครสักคน ก็อาจจะเป็นเราเองที่เข้มแข็ง และเรียนรู้โลก"
สาวอิสานอ่านเจอ คำพูดสวยๆ กระบวนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า
"ไม่ผิดที่เราจะเสียใจ ไม่ผิดที่เราไม่เป็นที่รักของคนที่เรารัก ไม่ผิดที่เราเป็นทุกข์ ไม่ผิดที่เราอกหักรักคุด หากจะมีความผิด ก็มีอยู่ประการเดียว คือ การที่เราเลือกที่จะจดจำมันไว้ตลอดกาลโดยไม่เรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปจากความผิดหวังเหล่านั้น"
ยินดีที่ได้รู้จักคุณวิทยาค่ะ
- อยากหลับฝัน มันเหมือนจะเป็นทางเดียวที่ฉันจะได้พบเธอ
เพราะฉันยังรอคอยเธออยู่เสมอ -
ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องสาวประเภทสองสักเท่าไหร่
"เพลงสุดท้าย" ก็ยังไม่ได้ไปดู แต่ดูตัวอย่างหนังแล้ว สะดุดกับคำพูดของคนเล่นเป็นพ่อมาก
"ฉันไม่เคยมีลูกชาย ลูกชายฉันตายไปแล้ว"
ใครโดนคำพูดนี้เข้าไปคงสะอึก อาจจะกลั้นใจตายได้
ปล.ช่วยยืนยันว่าเสียงคุณแอมเหมือนผู้หญิงจริงๆครับ
Hi, I like your post
ดูหนังแล้วก้อเศร้าดี ฟังชีวิตคนเล่นเอง ก็รู้สึกสะท้อนใจไปอีกแบบครับ
Post a Comment